กระหึ่มในวงกว้าง เมื่อนักแสดงชื่อดังถูกรถยนต์เกียร์อัตโนมัติถอยชนตาย
โดยไม่พบผู้ขับท่ามกลางความค้างคาใจว่าเกียร์คาอยู่ที่ R ได้อย่างไร?
คันเกียร์เลื่อนได้เอง หรือ เพราะอะไร? เกียร์อัตโนมัติน่ากลัวขนาดนั้นเชียวเหรอ?
อ่านวิธีใช้เกียร์อัตโนมัติอย่างปลอดภัย สั้นกระชับและตรงประเด็น บทความนี้ไม่ได้แนะนำ
ถึงวีธีการใช้เกียร์ อัตโนมัติให้เต็มประสิทธิภาพ แต่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยเฉพาะ
ส่วนในกรณีที่นักแสดงดังเสียชีวิต ไม่ว่าจะมีผลสรุปเป็นเช่นไร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้
เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่า ไม่มีผู้อื่นขับ และรถยนต์ไม่มีความบกพร่อง
ตำแหน่ง R ต้องตั้งใจเข้า
สำหรับรถยนต์รุ่นที่มีร่องคันเกียร์แนวตรงและมีปุ่มกดที่หัวเกียร์
การเข้าเกียร์ไปยังตำแหน่งเกียร์ถอย-R ทั้งจากเกียร์จอด-P หรือจากเกียร์ว่าง-N
รถยนต์ทุกรุ่นที่เกียร์เป็นร่องตรง ต้องมีการกดปุ่มที่หัวเกียร์
และบางรุ่นต้องเหยียบเบรกพร้อมกับกดปุ่มที่หัวเกียร์ ถึงจะเลื่อนไปยังเกียร์ถอย-R ได้
หากไม่ทำเช่นนั้น จะไม่สามารถเลื่อนคันเกียร์ได้ เพราะมีสลักล็อกอยู่
แม้จะใช้ 2 มือดันสุดแรง ถ้าสลักไม่หัก ก็เลื่อนไม่ได้แน่ๆ
ในกรณีของนักแสดงกับแลนเซอร์ ซีเดีย นี้เป็นหัวเกียร์แบบมีปุ่ม
การเข้าเกียร์ถอย-R ต้องมีการกดปุ่ม เกียร์จะดีดเองจาก P หรือ N ไป R ไม่ได้
เกียร์คร่อมตำแหน่ง P-R หรือ N-R
การเลื่อนคันเกียร์ไปมาระหว่างแต่ละตำแหน่ง มีระยะห่างกันก็จริง แต่ก็น้อยมาก
การคาคันเกียร์คร่อมอยู่ระหว่าง 2 ตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ในกรณีของนักแสดงกับแลนเซอร์ซีเดีย ที่หลายคนเดาว่า ก่อนลงจากรถยนต์ไปเปิดประตู
มีการเข้าเกียร์คร่อมตำแหน่ง P-R หรือ N-R ไว้ แล้วพอมีแรงสะเทือนก็ทำให้เกียร์ดีดเข้า
R รถยนต์ก็เลยไหลได้ มีโอกาสเกิดขึ้น น้อยมาก และถ้าจริงๆแล้วคันเกียร์คร่อมตำแหน่งอยู่
ก็ต้องถือว่าเป็นความผิดของคนไม่ใช่รถยนต์
ดังนั้น ไม่ว่าในช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์หรือจะทำอะไรก็ตาม ควรแน่ใจเสมอว่าคันเกียร์อยู่
ในล็อกของตำแหน่งที่ต้องการไม่คร่อมตำแหน่งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
เพราะอย่างเกียร์ P ก็กดปุ่มแล้วดันไปข้างหน้าให้สุด,เกียร์ N ก็ไม่ต้องกดปุ่มแล้วดันไปข้าง
หน้าจะติด เพราะถ้าไม่กดปุ่มบนหัวเกียร์ ยังไงก็เลื่อนเลยไปถึง R ไม่ได้
หากคันเกียร์จะค้างคร่อมตำแหน่งอยู่ ก็เป็นความผิดของผู้ขับนั่นเอง
เพราะทุกเกียร์ มีล็อกที่ชัดเจนอยู่แล้ว
กดปุ่มที่หัวเกียร์ เท่าที่จำเป็น
ควรศึกษาระบบการล็อกคันเกียร์ในรถยนต์ของตนเองว่า การเลื่อนจากตำแหน่งใดไปยัง
ตำแหน่งอื่น ต้องกดหรือไม่ต้องกดปุ่ม ที่หัวเกียร์ แล้วจำให้ให้แม่นยำ
เช่น จาก P หรือ N ไป R ต้องกดปุ่ม (หรือเท้าอาจต้องกดเบรกด้วย),
จาก R ไป P หรือมา N, จาก N ไป-มากับ D ต้องกดปุ่มหรือไม่ ฯลฯ
หากไม่ต้องกดปุ่มแล้วเลื่อนได้ ตลอดการขับก็ไม่ต้องกดปุ่ม
โดยไม่ต้องกลัวว่าสลักล็อกจะสึกหรอ เพราะผู้ผลิตออกแบบให้ทำ ได้เช่นนั้นอยู่แล้ว
โดยทั่วไปการเลื่อนคันเกียร์จาก N มา D ขับเคลื่อนเดินหน้า จะไม่ต้องกดปุ่ม เพราะผู้ผลิต
ต้องการให้สะดวก ดังนั้นก็ไม่ต้องกดปุ่ม เพราะถ้ากดปุ่มจาก N มา D ก็อาจเลื่อนเลยลงมา
เกียร์ต่ำกว่า D ได้ หรือกรณีจะผลักจาก D กลับไป N ก็อาจเลยไป R โดยไม่ตั้งใจได้
จำไว้ว่า ถ้าไม่ต้องกดปุ่มแล้วเลื่อนได้ ก็ ไม่ต้องกด ในกรณีของ N-D ถ้าไม่ต้องกดปุ่ม
แล้วเลื่อนไป-มาได้ ก็ให้ระวังทั้งตนเองและผู้อื่นผลักคันเกียร์โดยไม่ตั้งใจ
หากต้องจอดแล้วติดเครื่องยนต์ไว้ และต้องลงจากรถยนต์ โดยมีผู้อื่นอยู่ในรถยนต์
(โดยเฉพาะเด็กๆ) นอกจากควรดึงเบรกมือไว้และเข้าเกียร์ P ไว้ด้วย
โดยไม่ควรเข้าเกียร์ N ไว้ เพราะอาจมีใครดันมาเป็นเกียร์ D ได้
ถ้าต้องกดปุ่ม นั่นก็คือ ต้องตั้งใจเข้าเกียร์ นั้นๆ ไม่ใช่การพลั้งเผลอ
เพราะไม่มีทางที่จะเลื่อนโดยไม่กดปุ่ม โดยเฉพาะเกียร์ R อย่างในข่าว
อย่าไว้ใจเบรกมือ
เมื่อดึงเบรกมือจนสุด หากรถยนต์ปกติ การเข้าเกียร์ค้างไว้ที่ D หรือ R โดยไม่แตะคันเร่ง
รถยนต์จะต้องไม่ไหล แต่ไม่มีความแน่นอนว่าเมื่อไรจะไหล เช่น
สายสลิงเบรกมือยืดตัวรอบกระตุกเพราะคอมเพรสเซอร์แอร์ตัด-ต่อการทำงาน
แม้เมื่อดึงเบรกมือสุด จะมีแรงกดผ้าเบรกมาก แต่ก็แค่ 2 ล้อ
และแรงกดนั้นน้อยกว่าการเหยียบเบรกอยู่มาก ดังนั้นจึงไม่ควรไว้ใจเบรกมือ
ควรคิดเสมอว่า แม้ดึงเบรกมือสุด แล้วรถยนต์ก็ยังอาจจะไหลได้
สามารถพิสูจน์ว่าเบรกมือไม่ได้มีการเบรกอย่างหนักแน่น ได้จากการที่หลายคนลืมดึงเบรกมือ
ค้างไว้ แล้วก็ยังขับรถยนต์ออกไปได้หลายกิโลเมตรหรือหลายสิบกิโลเมตร
โดยที่รถยนต์ไม่ได้มีอัตราเร่งอืดจนแตกต่างจากปกติ นั่นคือ
เบรกมือมีแรงเบรกพอสมควรเท่านั้น มิฉะนั้นคงไม่สามารถขับออกไปได้โดยหลายคนหลงลืม
จอดบนการจราจร มีผู้ขับ
หมายถึงกรณีที่ต้องจอดบนการจราจรชั่วคราว เช่น ติดไฟแดง การจราจรคับคั่ง
อย่าสับสนกับกรณีของนักแสดงที่เสียชีวิต จนทำให้ตัวเรากลัวรถยนต์ไหลโดยเข้าเกียร์ P
ในการจอดติดไฟแดง เพราะต่างรูปแบบกันเลย
การจอดติดไฟแดง มีผู้ขับอยู่ตามปกติ หากจอดไม่นาน ควรแตะเบรกและค้างไว้เกียร์ D
เพื่อไม่ให้เกียร์มีการสึกหรอจากการสลับไป มาระหว่าง N-D
หรือถ้าจอดนานสักหน่อย จะค้างไว้ที่ D พร้อมดึงเบรกมือไว้ก็ได้ ไม่อันตราย
ไม่จำเป็นต้องเลื่อนเกียร์จาก D ผ่าน N R ผ่านไปยัง P เพราะขณะนั้นมีผู้ขับควบคุมอยู่
การเลื่อนไป P ต้องผ่าน R ไฟถอยหลังจะสว่างขึ้นชั่วครู่ จะสร้างความสับสนต่อผู้ที่ขับรถยนต์จอดอยู่ข้างหลัง เมื่อต้องออกตัวครั้งต่อไป
ก็ขาดความฉับไว เพราะต้องเลื่อนผ่านหลายเกียร์และไฟถอยหลังก็จะสว่างวาบขึ้นอีกครั้ง
หากจอดนานหลายนาทีบนการจราจร เช่นติดไฟแดง สามารถปลดมาที่เกียร์ว่าง-N
ส่วนจะแตะเบรกหรือดึงเบรกมือควบคู่กันก็ตามสะดวก เพราะยังไงก็มีผู้ขับควบคุมอยู่ตามปกติ
ไม่ต้องห่วงรถยนต์มาก
รถยนต์ในไทยมีราคาแพง หลายคนจึงรักมาก ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ก็ไม่ควรรักมากเกินไป รถยนต์เป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้
ในกรณีของนักแสดงนี้ ถ้าเสียชีวิตเพราะ มองเห็นรถยนต์ไหลแล้ว จึงพยายามดันรถยนต์จนตัวเองโดนเบียดเสียชีวิต
ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่เสียชีวิตเพียงเพราะกลัวรถยนต์เสียหาย
ในกรณีเกียร์ P ที่จะมีสลักหรือตัวล็อก ในชุดเกียร์ควบคุมไม่ให้รถยนต์ไหล
และจะหักถ้ามีรถยนต์คันอื่นมาชนอย่างแรง ก็ไม่ต้องกลัวมากว่าสลักนั้นจะพัง
หากจอดไม่ขวางใคร เพราะการใส่เกียร์ P พร้อมเบรกมือ คือการป้องกันไม่ให้รถยนต์ไหล
ได้ดีที่สุด ดีกว่าใส่ เกียร์ N +พร้อมเบรกมือที่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า
โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นที่สามารถผลักจากเกียร์ N มา D ได้โดยไม่ต้องกดปุ่ม
รถยนต์เสีย ซ่อมได้คนตายแล้วตายเลย
เพิ่มสัญญานเตือน เมื่อเข้าเกียร์ถอย-R
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น สิ้นเปลือง หรือบางคนบอกว่าน่ารำคาญ แต่จริงๆแล้วกลับสามารถ
เพิ่มความปลอดภัยได้ดี ค่าใช้จ่ายรวมติดตั้งตามร้านประดับยนต์ ไม่น่าเกิน 500 บาท
หรือถ้าไปซื้อจากแถวบ้านหม้อ ก็ราคาตัวละไม่เกิน 100 บาท นำมาติดตั้งพ่วงกับไฟถอย
อย่างง่ายๆ ติดตั้งเองหรือจ้างร้านติดตั้งไม่น่าเกิน 200 บาท
หากเสียงดังเกินไปและไม่มีปุ่มปรับ ก็ดัดแปลงไม่ยาก ใช้เทปโฟม 2 หน้าปิดทับรูที่เสียงผ่าน
ออกมา จะให้ดังหรือเบาแค่ไหนตามชอบ ถ้ารำคาญก็ให้เสียงเบาหน่อย
ถ้าอยากเตือนคนอื่นด้วยก็ปล่อยเสียงเต็มที่ ความน่ารำคาญเมื่อมีเสียงขณะถอยรถยนต์
ในอีกแง่มุมกลับสามารถเพิ่มความปลอดภัยได้
สรุป
จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลย เริ่มจากตรวจสอบว่ารถยนต์รุ่นที่ขับอยู่
สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้นอกเหนือจากที่เกียร์อยู่ P หรือ N ได้ไหม
รวมถึงถ้าคร่อมอยู่กับ R หรือ D จะเป็นเช่นไร
หากสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้ถือว่าผิดปกติ ต้องรีบซ่อมแซม
ในการใช้งานจริง ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์
ควรต้องแน่ใจว่าอยู่ที่เกียร์ P หรือ N ตรงล็อกจริงๆ ไม่คร่อมอยู่กับเกียร์อื่น
ทดลองดูว่าเกียร์ใดบ้าง ต้องกดปุ่มที่หัวเกียร์
หรืออาจต้องเหยียบเบรกควบคู่กันด้วย ถึงจะเลื่อนเกียร์ได้ ก็ปฏิบัติตามนั้น
ถ้าระบบออกแบบมาไม่ต้องกดก็เลื่อนได้
โดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ ระหว่าง N-D4-D3 ก็ไม่ต้องกดปุ่ม
เพราะอาจจะเลยไปยังเกียร์อื่นที่ไม่ต้องการ หากเกียร์ที่ต้องกดปุ่มแล้วถึงจะเลื่อนได้
เมื่อใช้งานไปนานๆ แล้วไม่ต้องกดปุ่ม ก็เลื่อนเกียร์ได้ ให้รีบซ่อมแซม
การจอดขณะติดเครื่องยนต์แล้วต้องการลงจากรถยนต์
นอกจากดึงเบรกมือให้สุดแล้ว ควรเข้าเกียร์ P ไว้
นอกจากจะป้องกันรถยนต์ไหลได้ดีแล้วยังไม่มีความเสี่ยงที่ใครจะผลักจากเกียร์ N มา D
ไม่ต้องกลัวว่าเกียร์ P จะเสียหาย ใช้เมื่อจำเป็นอย่างเหมาะสม
ไม่ใช่ใช้แต่ดึงเบรกมือกับเกียร์ว่าง-N เพราะยังไงก็ไม่แน่นอนเท่าเกียร์ P พร้อมดึงเบรกมือจนสุด
ไม่ควรเชื่อมั่นเบรกมือมากเกินไป
ตามปกติแล้วหากเข้าเกียร์ขับเคลื่อนและปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานรอบเดินเบา
หากดึงเบรกมือสุด รถยนต์จะต้องไม่ไหล ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ควรปรับตั้งหรือซ่อมระบบเบรกมือ
แต่ก็ไม่ต้องชะล่าใจว่าจะเอาอยู่ ดังนั้นถ้าต้องจอดขณะติดเครื่องยนต์และไม่มีผู้ขับ
ควรเข้าเกียร์ P ควบคู่กันด้วย
ถ้าคิดว่าเสียงเตือนเมื่อเข้าเกียร์ถอย-R มีประโยชน์
ก็สามารถหาติดตั้งได้ในค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาท
เกียร์ AUTO ต้องถูกควบคุมด้วยคน ดังนั้นความปลอดภัยหลักก็อยู่ที่.....คน
โดย วรพล สิงห์เขียวพงษ์