น่าสนใจ

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

กฎจราจรที่คนไทยละเลย

กฎจราจรที่คนไทยละเลย


กฎจราจรมีไว้เพื่อให้ทุกคน สามารถใช้ถนนสาธารณะร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย
ในแต่ละประเทศมีกฎจราจรพื้นฐานคล้ายกัน แต่ต่างกันที่รายละเอียดและความเข้มงวดในการ
ปฏิบัติ บทความนี้รวบรวมกฎจราจรของไทยหรือ ลักษณะการขับรถยนต์ ที่คนไทยละเลย
ไม่ปฏิบัติตาม จนกลายเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าใครเคร่งครัด ก็อาจจะถูกด่าหรือชนได้
ทั้งหมดเป็นเพียงการรวบรวมให้ทราบ แต่คงยากที่จะชักจูงให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ตราบใดที่ยังมีสินบน! หลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับ

ขับช้าชิดซ้าย
ไม่ได้พบแต่ตามถนนโล่งต่างจังหวัดเท่านั้น บนทางด่วนหรือทางลอยฟ้าในกรุงเทพฯ
ก็พบได้บ่อยๆเพราะคำว่าช้า และมีกฎหมายจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ จึงทำให้หลายคนคิดว่า
เมื่อไรที่รู้สึกด้วยตัวเองว่าเร็วแล้ว หรือขับเกินความเร็วที่กฎหมายจำกัดไว้ ก็จะขับแช่อยู่ในเลน
ขวาได้ เพราะในเมื่อไม่ได้คิดว่าขับช้า ก็ไม่ต้องชิดซ้าย

วิธีที่ถูกต้อง คือ แซงแล้วต้องชิดซ้าย เลนขวามีไว้แซงเท่านั้น หรือราชการควรเปลี่ยนประโยค
ใหม่เพิ่มคำว่า "กว่า"เข้าไปจากขับช้าชิดซ้าย เปลี่ยนประโยคเป็นขับช้ากว่าชิดซ้าย
คือ ไม่ว่าจะขับด้วยความเร็วเท่าใดในเลนขวา ถ้ามีรถยนต์ ที่ตามมาขับเร็วกว่า ก็ต้องหลบซ้าย
ให้ไม่ต้องทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตัดสินผู้อื่นว่า หากตนเองขับเร็วตามกฎหมายแล้วไม่ต้อง
หลบให้ใคร แนะนำว่าไม่ต้องคิดเช่นนั้น เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา หากมีรถยนต์ที่เร็วกว่า
็ควรหลบเข้าเลนซ้ายให้ ถึงแม้เลนซ้ายในช่วงนั้นจะขรุขระบ้าง แต่ถ้าไม่ถึงกับแย่จนทนขับไม่ได้
ก็ควรหลบเข้าเลนซ้ายชั่วคราว พอถูกแซงผ่านไปและว่างก็ค่อยกลับมาเลนขวา


ขับเร็วเกินกำหนด
กฎหมายไทยจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ต่ำ คือ 90-120 กม./ชม.แล้วแต่ว่าจะเป็นถนนใด
ถ้าเป็นถนนหลวงใช้ฟรี มักถูกจำกัดแค่ 90 กม./ชม.คนส่วนใหญ่มองว่ากฎหมายล้าหลัง
ไม่ปรับปรุงตามสมรรถนะของรถยนต์ และบนถนนจริง ในการเดินทางไกล
ก็แทบไม่มีใครทนขับช้าอย่างนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกจับก็โดนกันเกือบทุกคัน
นับเป็นเรื่องที่หวานอมขมกลืน เพราะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้
ซึ่งก็ดีในแง่หนึ่งที่จะได้ความปลอดภัย
เพราะคนไทยหลายสิบเปอร์เซ็นต์ขับรถยนต์โดยมีพื้นฐานที่ไม่ดี
ยิ่งเร็วก็ยิ่งอันตราย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ใครจะไปทนขับเป็นเต่า 90 กม./ชม. แม้แต่ข้าราชการ นักการเมืองใหญ่ๆ
ก็ยังไม่เห็นใช้ความเร็วในการเดินทางต่ำอย่างนี้


ไม่เปิดไฟเลี้ยว
บางคนหลงลืม บางคนไม่เปิดเป็นนิสัย บางคนตั้งใจไม่เปิด เพราะเคยพบกับคนอื่นที่นิสัยไร้น้ำใจ
ซึ่งทำให้การเปิดไฟเลี้ยวที่น่าจะเป็น การเตือนให้ทราบหรือขอทาง
แต่กลับเป็นการเตือนให้รู้ตัวและก็เร่งความเร็วมาปิดช่องว่าง หลายคนจึงไม่เปิดไฟเลี้ยว
ด้วยเหตุผลสั้นๆ คือ ไม่อยากให้คนอื่นรู้ตัว ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นควรเปิด
เพราะจะได้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และก็คงไม่พบกับคนไร้น้ำใจกันทั้งถนน


ป้ายหยุด แต่ไม่หยุด
ในไทยใช้คำว่า หยุด ส่วนในหลายประเทศเป็นป้าย STOPและต้องปฏิบัติตามป้ายอย่างเคร่งครัด
เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะอยู่บนถนนใหญ่หรือซอยเล็ก กลางวันหรือดึกไม่ว่าจะดูคึกคักหรือ
เปลี่ยว หากมีป้ายนี้ ต้องเบรกรถยนต์ให้ล้อหยุดหมุน จะสักครึ่งหรือ 1 วินาทีก็ยังดี
หากดูแล้วทางโล่งก็ค่อยขับต่อไป ไม่มีการปล่อยไหลช้าๆ ล้อต้องหยุดสนิทชั่วคราว
ไม่งั้นถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจซุ่มอยู่จะจับกุมได้ทันที แม้ถนนจะโล่ง ดึกและเปลี่ยว
รวมถึงไม่มีรถยนต์อื่นในบริเวณแยกนั้นเลยก็ตาม นับเป็นความปลอดภัยที่ชัดเจน
เพราะการหยุดพร้อมกับดูความโล่งของเส้นทางที่จะไปย่อมดีกว่าปล่อยรถยนต์ไหลๆพร้อมกับดู

น่าแปลกที่คนไทยไม่เคยจอดรถยนต์ตามกำหนดของป้ายหยุดนี้เลย
บางคนมองเห็นและทราบว่ามีแยกอยู่ข้างหน้า และต้องดูเส้นทางว่าว่างไหม
แต่ไม่เคยคิดจะให้้ล้อหยุด หมุนสักครู่เลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เคยจับ
บางคนแทบไม่เคยเห็น ไม่สนใจป้ายนี้ หรือเห็นแล้วไม่คิดว่าจะต้องเบรกจนล้อหยุดหมุนเลย
รวมถึงหากขับรถยนต์ไหลๆ มาเป็นแถว ถ้าบริเวณแยกนั้นเส้นทางว่าง
หากใครพบป้ายนี้แล้วเบรกจนหยุด ก็อาจโดนบีบแตรไล่หรือถูกชนท้ายได้
ป้ายหยุดสำหรับคนไทยจึงกลายเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก หรือบางคนบอกว่าไร้สาระจะติดไปทำไม


ฝ่าไฟเหลือง
ในไทยเห็นไฟเหลืองแล้วต้องเร่งส่ง ขณะที่ในหลายประเทศคือไฟหยุด เห็นไฟเหลืองแล้ว
ต้องหยุด ในไทยขืนไม่เร่งส่ง ก็อาจโดนก็อาจโดนบีบแตรไล่หรือถูกชนท้ายได้
เรื่องนี้คงยากที่จะแก้ไข เพราะถ้าพิสดารทำอยู่คนเดียวก็อาจถูกชนท้ายได้


เปิดเลนใหม่ซ้ายสุด
หากการจราจรติดขัดมา และถนนมีไหล่ทางด้านซ้าย พอจะเปิดเลนใหม่ได้อีกสัก 1 เลน
ก็จะไม่รีรอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อนุโลมให้ในหลายประเทศ ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด
และไม่ว่าการจราจรจะติดขัดเพียงไร ก็ไม่มีใครเปิดเลนใหม่ริมซ้ายสุด เพราะจะโดนจับ
จะใช้สำหรับรถยนต์จอดเสีย และที่สำคัญ คือ สำหรับรถยนต์ฉุกเฉิน เช่น
กำลังจะไปลากรถยนต์ที่จอดเสีย หรือที่สำคัญคือ รถพยาบาลที่ควรจะไปได้เร็วที่สุดในเลนโล่งๆ
สำหรับคนไทยที่ทำเช่นนี้ จะสำนึกก็ต่อเมื่อต้องใช้บริการของรถพยาบาลแล้วทุกเลนเต็มหมด
แม้แต่ริมซ้ายสุดก็ยังเต็ม


จอดทับลายตารางเหลือง
ผู้ขับรถยนต์ส่วนใหญ่ทราบว่าห้ามจอดทับ แต่ในกรณีที่การจราจรติดขัดแบบพอไหลๆ ได้
หลายคนก็เผลอจอดทับ เพราะไม่ได้ประเมินรถยนต์บนการจราจรข้างหน้า
คิดง่ายๆว่าเดี๋ยว คงไหลไปเรื่อยๆ ผ่านลายตารางไปได้ ในความเป็นจริง เมื่อถึงเขตตารางนี้
ถ้าไม่แน่ใจก็ควรรอให้รถยนต์คันนำหน้าเลยปลายตารางออกไปจนมีที่ว่างสำหรับรถยนต์ของเรา
แล้วค่อยขับตามไป ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ไม่ยอมทำกันให้ถูกต้อง


เลี้ยวซ้าย (ไม่)ผ่านตลอด
หลายคนไม่ทราบว่า จะสามารถเลี้ยวซ้าย ผ่านตลอดได้ ก็ต่อเมื่อมีป้ายบอกไว้ชัดเจนว่า
เลี้ยวซ้ายผ่านตลอดหากไม่มีป้ายฯ รวมถึงไม่มีสัญญานไฟแยกออกมา
ตามกฎหมายจะถือว่าตรงนั้น เลี้ยวซ้ายไม่ผ่านตลอด
ต้องรอให้มีไฟเขียวทางตรงหรือไฟเขียวเลี้ยวซ้ายสว่างขึ้น ถึงจะเลี้ยวซ้ายได้


จอดเลยเส้นตรงแยก
นับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ จนต้องมีกฎหมายตัดแต้มกัน น่าตำหนิ โดยเฉพาะเมื่อจอด
ทับทางม้าลาย คนข้ามถนนต้องเดินเลี่ยงโดยไม่จำเป็น คนอยู่ในรถยนต์เย็นฉ่ำกลับจอดบังทาง
ม้าลายให้คนเดินถนนที่ทั้งเจอความร้อนทั้งฝุ่นต้องลำบากมากขึ้น


ไม่ต่อคิว จอดแปะขอเข้า
น่าจะมีน้อยมากที่ปฏิบัติเพราะไม่คุ้นเส้นทาง ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะไม่อยากต่อคิวยาวเลยขับมา
ต้นๆคิวแล้วจอดแปะริมคิวขอเข้า เกะกะออกไปอีกเลนหนึ่งแล้วก็คิดไปเองว่า ในเมื่อเปิดไฟเลี้ยว
แล้วก็น่าจะมีน้ำใจให้เข้าหน่อย โดยไม่มองว่าตนเองตั้งใจไม่ต่อคิวแล้วมาขอแทรกนั้นไม่ถูกต้อง


แซงเส้นทึบ
ทั้งนอกและในเมืองพบได้เสมอ มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่เดาว่าเกินครึ่งขับอย่างตั้งใจ
โดยเห็นเส้นทึบก่อนตัอสินใจฝ่าฝืนขับข้ามหรือแซง


จอดในที่ห้ามจอดแล้วเปิดไฟฉุกเฉิน
เสมือนว่าถ้าเปิดไฟฉุกเฉินแล้วจะจอดชั่วคราวได้ ถึงจะมีป้ายห้ามจอดอยู่ชัดเจนก็ตาม
โดยไม่สนใจว่าจะเกะกะการจราจรเพียงไร


ติดสินบน ต้นเหตุของการกระทำผิด
การให้และรับสินบนเมื่อมีการกระทำผิดกฎจราจร นับเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย
ใครไม่ยอมติดสินบนหรือตั้งใจรับใบสั่ง อาจจะกลายเป็นคนโง่ในสังคมของตนเอง
คนที่ติดสินบน มักจะยอมรับว่าตนเองกระทำผิด แล้วยกสารพัดข้ออ้างขึ้นมาหาความถูกต้องว่า
เสียค่าปรับแพง เสียเวลาทำมาหากินหรือโดนตัดแต้ม สู้ติดสินบนแล้วจบเลยตรงนั้นไม่ได้
พอดีว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน ก็เต็มใจและจับกุมเพื่อต้องการสินบนอยู่แล้ว
การติดสินบนผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่คนที่ให้ กลับมาคิดหรือพูดภายหลังว่า โดนไถ
หรือคนรับเลวฝ่ายเดียว ไม่ได้คิดเลยว่า ตนเองทำผิดกฎหมาย 2 ต่อ คือ ผิดกฎจราจร
และติดสินบนเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้คงแก้ไขกันยาก หากพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย
และก็ไม่เคยมีคดีในศาลเรื่องการให้สินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังกระทำผิดกฎจราจร
การติดสินบนหลังกระทำผิด ทำกันจนเป็นวัฒนธรรมกลายๆของคนไทยไปแล้ว
และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการกระทำผิดกฎจราจร
โดยไม่ระมัดระวังหรือถึงขั้นตั้งใจกระทำผิดกันมาก เพราะหลายคนคิดอย่างชะล่าใจว่า
อย่างมากถ้าบังเอิญถูกจับก็ยัดเงินเจ้าหน้าที่ร้อยสองร้อยบาทก็จบ หลายคนเดาว่า
หากกระทำผิดกฎ จราจรแล้วติดสินบน มีโอกาสสำเร็จไม่ต้องรับใบสั่งถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
(ในความเป็นจริงจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 80 ก็คงพอเดากันได้)

หากการติดสินบนในเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ยังมีเป็นปกติ ก็ต้องถือว่าเป็นนิสัยพื้นฐานของคนไทย
ที่ชอบซิกแซ็กหรือหาทางเลี่ยงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ดังนั้นก็เลิกด่านักการเมืองโกงกินได้เลย เพราะถ้าคุณไปอยู่ในบทบาทนั้น
ก็คงซิกแซ็กโดยมีข้ออ้างสารพัดเช่นเดียวกับการไม่อยากจ่ายค่าปรับหลังการกระทำผิดกฎจราจร

บทความนี้ คงได้แค่กระตุ้นเตือน แต่คงคาดหวังให้ปฏิบัติตามคงยาก เพราะหลายเรื่องถูกฝังรากลึกลงไปแล้ว

โดย วรพล สิงห์เขียวพงษ์