น่าสนใจ

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ยาที่ไม่ควรกินคู่กัน

ยาที่ไม่ควรกินคู่กัน (กรุงเทพธุรกิจ)


โดย : นพ.กฤษดา ศิรามพุช

หากคุณมั่นใจว่าผู้ป่วยเลือดจาง ต้องกินอาหารเสริมในกลุ่มธาตุเหล็กให้มาก "คุณคิดผิด" หมอกฤษดาแจกแจงคู่ยา "มิตร-ศัตรู" ให้เข้าใจกันชัด ๆ

"Good things come in pair" ดังวลีฝรั่งนี้ที่บอกว่าของทุกอย่างมีคู่แฝดอยู่เสมอ อาจเป็นแฝดเหมือนหรือแฝดต่างก็ได้ ซึ่งก็พ้องกับทางพระที่ว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา และโลกธรรมแปดที่เล่าถึงคู่แห่งสัจธรรมในโลกนี้ มีสุขแล้วก็มีทุกข์ มีสรรเสริญก็ย่อมมีนินทา มีลาภก็ย่อมมีเสื่อมลาภได้ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น ในเรื่องของโอสถรักษาโรคก็ย่อมต้องมีคู่แฝดของมัน ที่ต้องมีทั้งแฝดที่ดีและแฝดที่ร้าย คล้ายเทวากับซาตานซึ่งเคยมีกรณีที่ถึงแก่ชีวิตมาแล้ว ซึ่งโดยมากมักเกิดจาก "ความไม่รู้" ในฤทธิ์อันไพศาลของยาแต่ละเม็ดที่กินอยู่ โดยเราจะค่อยมาดูกันไปทีละแฝดครับ



แฝดที่ดี

เสมือนคู่บุญ ยิ่งรู้จักกินให้เสริมกันก็จะยิ่งช่วยเสริมสุขภาพ หรือทำการรักษาโรคให้ท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และที่จริงก็ควรกินคู่กันเสียด้วย เพราะเรื่องของยาอาหารเสริมนี้มีหลักคือทำงานร่วมกัน โดยกลุ่มที่ควรกินร่วมกันช่วยเสริมให้ดีมีดังต่อไปนี้ครับ

1) วิตามินซีกับคอลลาเจน จะช่วยกันสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ใสปิ๊งปั๊งไม่เหี่ยวหย่อนย้อย

2) ธาตุเหล็กกับวิตามินซี กินธาตุเหล็กให้ดีดูดซึมเข้าไปใช้ได้ ไม่ใช่กินเข้าไปอย่างไรถ่ายออกมาหน้าตาเหมือนเดิมนั้น ต้องกินคู่กันอย่างเช่น ถ้าจะกินเลือดหมูให้ได้ธาตุเหล็กก็ควรกินกับผักที่มีวิตามินซีสูงเช่นใบตำลึงก็จะดีไม่น้อยครับ

3) แคลเซียมกับแมกนีเซียม แคลเซียมจะดูดซึมได้ดีต้องมี “ตัวช่วย” พามันเข้าไปได้แก่แมกนีเซียม, วิตามินดีและวิตามินเคด้วยซึ่งอยู่ในแสงแดดและผักเขียวจัดตามลำดับ

4) วิตามินเอ,ซีและอี พยายามกินไปด้วยกันเป็นดี หรือสูตรที่ดีคือกินซีเพียงตัวเดียวส่วนเอกับอีนั้นกินเอาจากผักคะน้าและถั่วลิสงสักวันละกำมือ

5) น้ำมันปลา (ไม่ใช่น้ำมันตับปลา) ขอให้เลือกชนิดที่มี ดีเอชเอคู่กับกับอีพีเอ ยิ่งมากหน่อยยิ่งดีอย่างน้อยกินให้ได้ค่า ดีเอชเอ+อีพีเอ = 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยมีเคล็ดไว้ว่าถ้าอยากบำรุงสมองต้องเลือกชนิดที่มีดีเอชเอเด่น แต่ถ้าจะให้บำรุงส่วนอื่นเป็นหลัก เช่นข้ออักเสบให้เลือกชนิดที่มีอีพีเอสูงด้วยครับ

แฝดที่ร้าย

แฝดตัวนี้ถือเป็นระดับ “ตัวแม่” ที่น่ากลัวกว่าเยอะมากครับ เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองจนเป็นอัมพาต หรือหัวใจวายแน่นิ่งไปได้ จึงอยากชวนให้ท่านที่รัก มาสนใจในยาที่ไม่ควรกินร่วมกันสักนิดดังนี้ครับ

1) น้ำมันปลากับแอสไพริน คู่ร้ายอันดับแรก โดยน้ำมันปลานี้มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดใสไม่หนืดเหนียว ส่วนแอสไพรินก็มีฤทธิ์เดียวกันคือ ช่วยให้ไม่เกิดลิ่มเลือดจับแข็งเป็นก้อนตัน เมื่อกินคู่กันเลยกลายเป็นคู่สังหารพาลให้เลือดไหลพรวดพราดไม่หยุด แม้การกรอฟันเพียงนิดก็อาจทำให้เลือดออกได้ ราวกับผ่าตัดใหญ่แล้วครับ

2) วิตามินอีและอีฟนิ่งพริมโรส มีคนไข้ที่อยากผิวสวยมาหาพร้อมบอกว่ามีคนแนะให้กินวิตามินอี แต่บ้างก็ให้เลือกเป็นอีฟนิ่งพริมโรสแทนจะเลือกอย่างไรดี จึงได้บอกไปให้เลือกอย่างหนึ่งก็พอ เพราะล้วนแต่มีวิตามินอีทั้งนั้น ซึ่งถ้าได้มากไปอาจทำให้เกิดหัวใจพิบัติแทน

3) แคลเซียมเสริมกับแคลเซียมสด ถ้าท่านกินงาดำได้วันละ 4 ช้อนโต๊ะ หรือเต้าหู้ขาวแข็งวันละ 3 ขีดก็จะได้แคลเซียมราว 1,000 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไปหาแคลเซียมเม็ดมากินเติมอีก จะทำให้แคลเซียมเกินและไปจับกับหลอดเลือดทำให้ตีบแข็งได้

4) กาแฟกับแคลเซียม ขอให้เลี่ยงกินแคลเซียมร่วมกับกาแฟ เพราะกาแฟจะไปยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนั้นยังไปดึงแคลเซียมออกจากกระดูกอีกด้วย

5) ธาตุเหล็กกับเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นไม้เบื่อไม้เมากันทีเดียว ขอให้ลืมความเชื่อที่ว่าถ้าเลือดจางต้องกินธาตุเหล็ก ไม่เสมอไปครับ หากท่านเป็นเลือดจางชนิดธาลัสซีเมียแล้วไปกินธาตุเหล็กเสริม จะเท่ากับเติมยาพิษให้กับหัวใจและตับตัวเองครับ

ทั้งแฝดดีแฝดร้ายนี้ที่จริงมีอีกมาก ซึ่งผมได้เคยเขียนไว้ในหนังสือแล้วและก็ตั้งใจจะเขียนไว้เรื่อย ๆ เป็นตอนต่อไปในคอลัมน์นี้ แต่สำหรับที่เลือกมาให้เห็นนั้นเป็นตัวอย่างที่พบบ่อยหน่อยครับ และท่านจำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

เมื่อถึงตอนนี้ขอให้ท่านหยิบยาออกมาสังคายนาแยกวางเป็นชนิดไปบนโต๊ะ แล้วจัดเป็นกลุ่มไว้ว่ากลุ่มใดรักษาโรคไหน แล้วบางทีจะเกิดพุทธิปัญญาทีเดียวว่า กินยามากเกินความจำเป็นไปเพียงใด แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากินยาที่ดันไปเสริมฤทธิ์กันให้เป็นพิษเข้าไปเสียอีก

ดังนั้น ท่านจะเห็นว่าการกินยานั้นมีข้อหยุมหยิมอยู่มาก เมื่อเทียบกับกินอาหารธรรมชาติที่โอกาสเกิดการผสมกันเป็นพิษน้อย เพราะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นมากเท่ายาเคมี แต่อย่างไรก็ดีคงต้องยึดหลักที่ว่าหูไวตาไวถ้ารู้สึกว่า "ไม่ใช่" แล้วก็ให้รีบเร่งบอกอย่าปล่อยให้เลยตามเลยไว้นานเลยจ้า


แหล่งที่มา
นางสาว กอบกุล รัตนไพบูลย์สวัสดิ์

ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการนิติกรรมสัญญา