น่าสนใจ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สลับยางอย่างถูกวิธี

รถแต่ละประเภทจะมีการสึกหรอแตกต่างกัน
การสลับยางนั้น มีเหตุผล เพื่อให้การสึกหรอของดอกยางในส่วนของล้อด้านหน้าและล้อด้านหลัง
มีการสึกหรอที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง
รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ (AW : ALL WHEEL TIME หรือ FULL-TIME)
หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ PART-TIME
ซึ่งรถแต่ละประเภท จะมีการสึกหรอของยางที่แตกต่างกันไป ตามการขับเคลื่อนของล้อ

รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า (FRONT WHEEL DRIVE)
ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนของรถ
การสึกหรอของยางในคู่หน้าจะมีมากกว่ายางคู่หลังโดยเฉลี่ย 2-3 เท่า
ทั้งนี้เนื่องจากภาระต่าง ๆ จะตกอยู่ที่ด้านหน้าเป็นส่วนมาก
ทั้งระบบขับเคลื่อนให้ล้อเสียดสีกับพื้นถนนขับเคลื่อนไปข้างหน้า
การบังคับทิศทางการเลี้ยวก็ตกอยู่ที่ด้านหน้า รวมถึงการเบรกหยุดความเร็วรถ

หากไม่ทำการสลับยางตามกำหนดระยะเวลา ผลที่จะตามมาคือ
เรื่องของการสึกหรอของยางทั้ง 4 เส้นจะไม่เท่ากัน
และจะส่งผลไปถึงเรื่องของการผิดปรกติของศูนย์รถที่ไม่สมดุล
นอกจากนี้ การสึกหรอของยางที่ไม่เท่ากันมาก ๆ เรื่องของการเบรกดึงซ้ายหรือดึงขวาไปด้านใดด้านหนึ่ง
ก็เกิดจากสาเหตุของยางประการหนึ่งเช่นกัน
ซึ่งในกรณีนี้หากเกิดขึ้นขณะใช้ความเร็วสูง ๆ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

  การสลับยางที่ดี ควรทำการสลับยางทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร
โดยในการสลับยางครั้งแรกจะทำการสลับยางในลักษณะเปลี่ยนยางจากล้อหลังมาไว้ล้อหน้า
และเปลี่ยนจากล้อหน้าไปไว้ล้อหลัง ซึ่งในการเปลี่ยนสลับจะทำการสลับเป็นฝั่งไป คือ
ยางหน้าฝั่งซ้าย สลับกับยางหลังฝั่งซ้าย และยางหน้าฝั่งขวา สลับกับยางหลังฝั่งขวา

ที่สำคัญ หลังการสลับยางเสร็จสิ้นในทุก 10,000 กิโลเมตร ควรทำการถ่วงล้อทั้ง 4 ล้อ
ตรวจเช็กสภาพของผ้าเบรกว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ปรกติ ตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง
ตรวจวัดระดับน้ำมันเบรกในกระปุกปั๊ม ตรวจสอบช็อกแอบซอร์เบอร์ และลูกหมาก
ทำความสะอาดไส้กรองอากาศ ตรวจเช็กศูนย์ล้อ
รวมถึงเรื่องของการอัดจาระบีดุมล้อ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของระบบช่วงล่าง



  หลังจากใช้งานต่อไปจนถึง 20,000 กิโลเมตร หรือครบรอบอีก 10,000 กิโลเมตร
การสลับยางครั้งนี้ จะแตกต่างจากการสลับยางใน 10,000 กิโลเมตรแรก ซึ่งวิธีการสลับยางจะเป็นลักษณะไขว้
โดยจะทำการเปลี่ยนยางล้อขวาหน้าไปไว้ล้อหลังซ้าย ล้อหลังซ้ายสลับแทนที่ยางหน้าขวา
ส่วนยางหน้าซ้ายจะเปลี่ยนสลับกับยางหลังขวา ซึ่งในการเปลี่ยนสลับยางครั้งนี้ สิ่งที่ต้องสังเกต คือ
ทิศของหน้ายาง หรือลูกศรบอกตำแหน่งของยางอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่
ในกรณีที่สลับยางแล้วลายดอกยางย้อนศร อันนี้ต้องให้ร้านยางทำการกลับด้านยางให้ถูกต้อง
*** หลังจากนั้นให้ทำการตรวจเช็กร่วมเช่นเดียวกับ 10,000 กิโลเมตรในทุกครั้งที่ทำการสลับยาง



  เมื่อเข้าถึง 30,000 กิโลเมตร การสลับยางจะเป็นดังเช่นการสลับยางในครั้งแรก นั่นคือ
สลับยาง ล้อหน้าซ้ายไปไว้ล้อหลังซ้าย และล้อหน้าขวาสลับยางกับล้อหลังขวา
เหตุผลที่ต้องทำการสลับยางในลักษณะเช่นนี้ เพื่อให้ยางทั้ง 4 เส้นมีการสึกหรอที่เท่าเทียมกัน
เนื่องจากยางทั้ง 4 เส้นมีการสลับครบทุกด้าน ซึ่งยางแต่ละล้อจะรับภาระที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ยางหน้าขวา นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนรถให้เลื่อนไหล
ล้อหน้าขวาจะอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับด้านคนขับ
ภาระที่เพิ่มขึ้น คือ เรื่องของการรับน้ำหนักคนขับพ่วงเข้าไปด้วย เป็นต้น



  เมื่อถึง 40,000 กิโลเมตร การสลับยางก็จะเป็นดังเช่น การสลับยางในช่วง 20,000 กิโลเมตร
ที่จะทำการสลับยางในลักษณะไขว้กัน โดยยางล้อหน้าขวาจะสลับกับยางล้อหลังซ้าย
ยางล้อหลังซ้ายก็เปลี่ยนสลับแทนที่ยางหน้าขวา และยางล้อหน้าซ้ายเปลี่ยนสลับกับยางล้อหลังขวา
ยางล้อหลังขวาก็เปลี่ยนไปแทนที่ยางล้อหน้าซ้าย หลังจากนั้นก็ให้ทำการตรวจเช็กหน้ายางว่าย้อนศรหรือไม่

ในกรณีที่ไม่ทราบว่าใส่ยางย้อนศรหรือไม่ วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ
ให้สังเกตที่แก้มยางในบางรุ่นจะมีลูกศรชี้บอกทิศของการใส่ยางไปด้านหน้า
และในกรณีที่ยางไม่มีลูกศรบอกทิศ ให้สังเกตที่วันเดือนปีที่ผลิตซึ่งจะบอกไว้ที่แก้มยาง
ซึ่งในยางบางยี่ห้ออาจบอกไว้เพียงสัปดาห์ที่และปีเท่านั้น
ให้ด้านตัวเลขบอกวันเดือนปีผลิตของยางหันออกด้านนอกเสมอ นั่นคือ ด้านยางที่ถูกต้อง

ที่มา นิตยสารรถวันนี้