การเลือกซื้อรถยนต์มือสองไม่ใช่เรื่องง่าย ใครๆ ก็กลัวถูกหลอก แต่จะป้องกันได้อย่างไร
ถ้ายังมีความเชื่อผิดๆ กันอยู่...บทความนี้ไม่ใช่วิธีเลือกรถยนต์มือสอง
แต่จะช่วยลบล้างความเชื่อผิดๆ ได้
เต็นท์ต้องย้อมแมวเสมอ - รถบ้านต้องสภาพดีกว่า
ความเชื่อผิด :
คนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันอยู่ว่า การซื้อรถมือสองจากผู้ประกอบการ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า
เต็นท์รถมือสอง ต้องเสี่ยงต่อการย้อมแมว ต้องถูกหลอก มักเอารถเน่ามาหลอกขาย
สารพัดจะเละทั้งตัวถังห่วย ชนยับ เครื่องยนต์ช่วงล่างซ่อมแบบขอไปที มีส่วนจริงบ้างเท่านั้น
แต่ไม่ใช่ทุกเต็นท์ ส่วนรถที่ประกาศขายเองตามหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต
ตั้งกล่องจอดข้างทางประกาศขาย หรือที่เรียกกันว่า รถบ้าน
หลายคนรีบมองว่า น่าจะสภาพดีกว่ารถเต็นท์ เพราะเจ้าของใช้เอง
ขายโดยไม่มีคนกลางราคาถูกกว่า รถก็สภาพดีกว่า ไม่มีการย้อมแมว
ความเป็นจริง :
ของมือสองจะมีสภาพดีหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับแหล่งที่ขายเท่าไรนัก ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลและ
การใช้งานของเจ้าของเดิมและการปรับสภาพของผู้ขาย
(ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นคนเดียวกับเจ้าของเดิม)เรื่องเต็นท์ย้อมแมว มีมาตลอดและยังมีอยู่เสมอ
เพราะหลายคนทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้าน เน้นกำไรสูงๆ ไว้ก่อน ลูกค้ารู้ภายหลังไม่สน
แต่เต็นท์หลายแห่งในระยะหลังมานี้ ต้องการทำธุรกิจระยะยาว ไม่รับซื้อรถสภาพแย่ๆ
รถที่ขายอยู่ก็มีสภาพดี เพื่อให้ขายง่ายและสร้างชื่อเสียง ในระยะยาว เพื่อให้ลูกค้าคนเดิมวน
กลับมาซื้ออีกหรือปากต่อปากบอกเพื่อนๆ ย่อมดีกว่าย้อมแมวขายแล้วลูกค้าสาปส่ง
เรื่องนี้ต้องแล้วแต่นโยบายทางธุรกิจ
ส่วนรถบ้านนั้น มีทั้งแท้และเทียม เพราะพ่อค้ารถทราบดีว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่ เชื่อมั่นว่ารถบ้านต้อง
สภาพดีราคาถูก ผู้ซื้อมักจะชะล่าใจตัดสินใจง่ายไม่ดูละเอียด จึงใช้วิธีเช่าบ้านเอารถไปจอดขาย
ทีละคันสองคัน ซึ่งก็ไม่แพงเท่าไร ค่าเช่าเดือนละไม่กี่พันบาท แล้วอาจจะอยู่อาศัยเองด้วย
หรืออาจจะใช้วิธีฝากขายกับคนที่ไว้ใจ ปลอมเป็นรถบ้าน
สังเกตได้ว่าผู้ขายจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดของรถคันนั้น อ้ำอึ้งเมื่อถูกถามลึกๆ
และที่สำคัญคือ ชื่อในสมุดทะเบียน จะไม่ใช่ผู้ขายคนนั้น
ส่วนรถบ้านแท้ๆ ขายโดยเจ้าของจริง ไม่จำเป็นว่ารถจะมีสภาพดี
เพราะเขาอาจจะดูแลรถมาไม่ดี จนเต็นท์ไม่รับซื้อหรือไม่รับเทิร์น เลยต้องมาขายเอง
เป็นเรื่องแปลกที่รถบ้านซึ่งซ่อมแบบขอไปที ไม่ถูกเรียกว่าย้อมแมว
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
ให้ความเป็นกลางในใจในเรื่องของแหล่งที่ขาย
ให้คิดว่าไม่ว่าจะซื้อที่ไหนก็มีโอกาสถูกย้อมแมวได้พอกัน จะได้ไม่ชะล่าใจ
สีสวย คือ สภาพดี อาจเพราะทำมาใหม่
ความเชื่อผิด :
ไม่แปลกที่เมื่อเห็นรถคันใดสีสวยเงางาม ไม่มีรอยเฉี่ยวชนค้างอยู่ หลายคนจะคิดไปก่อนเลยว่า
รถคันนี้สภาพดี เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็น เป็นอย่างแรก และไม่ซับซ้อนในการดู ถึงจะซ่อมสีมา
หรือพ่นใหม่ทั้งคัน แต่ถ้าทำมาเรียบร้อย ไม่เป็นคลื่นเป็นลอน อย่างน้อยก็ดูดี
และอาจทำให้ผู้ซื้อชะล่าใจ ดูส่วนอื่นไม่ละเอียด
ความเป็นจริง :
สีสวยแต่อาจเป็นเพราะซ่อมมาแล้วหรือทำมาใหม่ทั้งคัน หลังจากเกิดอุบัติเหตุ สวยเงางามไม่พอ
จำเป็นต้องดูในรายละเอียดว่า ทำไมถึงสีเนียน เป็นสีเดิมจากโรงงานจริง หรือสีพ่นใหม่ ซึ่งต้อง
เกี่ยวข้องกับอายุของรถด้วย
ถ้ารถใหม่อายุไม่เกิน 7-8 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยของสีจากโรงงานผลิตที่พอจะทนอยู่ได้ ก็ไม่ควร
จะมีการทำสีใหม่มาทั้งคัน ถ้าเคยซ่อมสีมาแผลสองแผลพอทำใจได้ หากทำสีมาทั้งคัน
สันนิษฐานได้ 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดอุบัติเหตุหนักหรือจอดตากแดดขาดการดูแล เพราะรถ
ปีใหม่ๆ นั้นในแวดวงเขาเน้นกันว่าต้องสีเดิมโดยผู้ขายมักจะบอกเน้นมากๆ ถ้าเป็นสีเดิมทั้งคัน
เพราะจะชัดเจนว่า รถคันนั้นไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย
ส่วนรถเก่าอายุเกิน 10 ปี แน่นอนว่าต้องมีการทำสีมาใหม่ แต่ควรจะใหม่แบบเรียบร้อย
ไม่ใช่ใหม่แต่ภายนอก แต่ภายในหมกเม็ดเลอะเทอะ ทำแบบลวกๆ
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
สีเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น สวยแต่เปลือกก็มีเยอะ
ถ้าเป็นรถใหม่ สีเดิมจากโรงงานย่อมดีที่สุด
หลีกเลี่ยงการซื้อรถปีใหม่ๆ ที่ทำสีมาใหม่ทั้งคัน เพราะยังไงก็ไม่เนี้ยบไม่ทนเท่าสีโรงงาน
ส่วนรถเก่าถ้าทำสีมาใหม่ ควรสวยทั้งนอกทั้งใน ละอองสีไม่เลอะเทอะ
และอย่าลืมดูส่วนอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะไม่ใช่สีสวยแล้วตัวถังต้องดีเสมอไป
เคาะ..ป๊องๆๆ บางทั้งคัน อาจบางแค่ภายนอก
ความเชื่อผิด :
ความบางจากการเคาะด้วย มะเหงกนั้น หมายถึง ตัวถังบางมีแต่เหล็กกับเนื้อสี ไม่มีสีโป๊วทับ
เนื้อเหล็กอยู่ใต้สีชั้นนอก ถ้าเคาะแล้วบาง เสียงก้องๆ ดังป๊องๆๆๆ เสียงไม่ทึบ แสดงว่าบาง
ไม่เกิดอุบัติเหตุมา ไม่มีการชน แล้วเคาะซ่อมแล้วโป๊วสีทับ ผู้ขายบางคนรีบบอกเลยว่า
รถคันที่จะขายบางทั้งคัน ป๊องทั้งคัน เพื่อแสดงว่าไม่มีการชนหนักมาก่อน ผู้ซื้อจะได้สนใจ
ความเป็นจริง :
การเคาะด้วยหลังมือไปทั่วคันรถ สามารถตรวจสอบความบางของตัวถังด้านนอกได้ว่า
มีสีโป๊วทับหรือไม่ แต่การที่ตัวถังในส่วนที่เคาะนั้นบาง ไม่ได้หมายความว่ารถคันนั้นไม่เคยเกิด
อุบัติเหตุหนักๆ ทุกชิ้นที่อยู่ภายนอกอาจบาง ทั้งที่รถคันนั้นเคยชนเละมาแล้ว เพราะซ่อมแบบ
เปลี่ยนทั้งชิ้น เช่น เปลี่ยนประตูทั้งบาน ฝากระโปรงทั้งชิ้นหรือแม้แต่แผ่นหลังคา ถึงจะคว่ำมา
ก็เปลี่ยนหลังคาทั้งแผ่นได้ ถ้าซ่อมโดยวิธีเคาะดึงโครงสร้างข้างในแล้ว ชิ้นนอกใช้วิธีเปลี่ยนเอา
หลังมือเคาะ ยังไงก็ป๊องๆ ยังไงก็บางทั้งคัน
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
การเคาะตัวถังภาย นอกบอกไม่ได้ว่า รถคันนั้นไม่เคยชน เพราะบอกได้แค่ว่า ชิ้นนั้นไม่เคยชน
แต่ข้างในนั้นอาจชนมาเละ แล้วเปลี่ยนชิ้นใหม่ภายนอกมา อะไหล่ตัวถังทั้งแท้ เทียบ เทียม
ใหม่ เก่า มีให้เลือกเปลี่ยนอย่างสะดวก เมื่อเคาะฟังเสียงข้างนอกแล้ว ที่สำคัญคือ
ต้องดูตะเข็บ รอยเชื่อม รอยอาร์คภายในทุกจุด เท่าที่จะดูได้อย่างละเอียด ถึงจะทราบได้ว่า
รถคันนั้นเคย เกิดอุบัติเหตุหนักๆหรือไม่ การเคาะแล้วเสียงป๊องๆ เป็นส่วนประกอบย่อยเท่านั้น
ยุคนี้ชิ้นไหนๆ ก็เปลี่ยนกันได้ในราคาไม่แพง
เลขระยะทางบนหน้าปัด อย่าเชื่อมาก
ความเข้าใจผิด :
แม้คนส่วนใหญ่จะพอทราบกันว่า เลขกิโลเมตรบนมาตรวัดระยะทางหรือเรียกกันแบบชาวบ้านว่า
ไมล์ (ทั้งที่ไม่ใช่ระยะเป็นไมล์) สำหรับการซื้อ ขายรถมือสองนั้นเชื่อถือแทบไม่ได้
เพราะสามารถหมุนเลขกลับได้ง่าย มีช่างเก่งๆรับทำให้ในราคาคันละ 500-1,000 บาทเท่านั้น
แต่ผู้ซื้อก็อดไม่ได้ที่จะดูเลขไมล์ ประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ ดูเลขไมล์แล้ว ก็ไม่ค่อยเชื่อ
บางคนยังไล่ไปดูร่องรอยการรื้อหน้าปัดด้วย ส่วนรถที่ใช้เลขไมล์เป็นดิจิตอล คนส่วนใหญ่คิดว่า
เปลี่ยนแปลงจากการใช้งานจริงไม่ได้ ทั้งที่บางคันอาจทำ แต่อาจจะยากกว่าแบบอนาล็อก
ความเป็นจริง :
ไม่ควรถือว่าเลขไมล์บนมาตรวัดเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจ
ควรดูสภาพส่วนอื่นที่สำคัญมากกว่าการเชื่อตัวเลขบนหน้าปัด
เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ทั้งแบบอนาล็อกและดิจิตอล
โดยในแบบหลังนั้น อาจจะใช้วิธีป้อนสัญญาณให้เลขวิ่งเดินหน้าจนกลับมาขึ้นรอบใหม่ก็เป็นได้
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
เลขไมล์แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ถ้าสภาพของอุปกรณ์อื่นไม่สอดคล้องกัน เช่น
เลขไมล์น้อย แต่เบาะทรุด เปื่อย ปุ่มกดต่างๆ เลอะเลือนหรือถูกกดจนเลี่ยนมนไปหมดแล้ว
รถเต็นท์ราคาแพง - รถบ้านราคาถูก
ความเชื่อผิด :
ความเชื่อนี้ไม่ผิดเท่าไรนัก เพราะรถในเต็นท์ส่วนใหญ่ มักจะมีราคาแพงกว่ารถบ้านแท้ๆ
เพราะทำธุรกิจก็ต้องมีกำไร หรือต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ รถเต็นท์ย่อมต้องเนี้ยบ
ส่วนรถบ้านนั้นอะไรพังนิดพังหน่อย เฉี่ยว นิดๆ หน่อยๆ แล้วยังไม่ซ่อม ก็ไม่มีใครว่า
แต่รถบ้านบางคันอาจจะตั้งราคาไว้แพง เพราะเจ้าของศึกษาราคาจากรถเต็นท์ที่ประกาศไว้
หรือแพงโอเวอร์ไปเลยก็ยังมี และคิดไปเองว่าจะขายได้ราคาตามนั้น
ทั้งที่ในเต็นท์นั้นเป็นแค่ราคาตั้ง พอซื้อจริงอาจจะลดได้อีกมากก็เป็นได้
ความเป็นจริง :
ในเต็นท์อาจแพงกว่ารถบ้าน แต่ถ้าซื้อเป็นเงินผ่อนก็สะดวกดี เพราะมีบริการหรือติดต่อแหล่ง
เงินกู้ให้ได้ หรือถ้าบางเต็นท์ร้อนเงิน หรือใช้นโยบายเงินหมุนเร็ว กำไรนิดหน่อยก็ขายดีกว่า
แช่นาน ราคาก็อาจไม่แพง
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
ตั้งเงื่อนไขในการซื้อไว้ว่า ราคาไม่เกี่ยวกับแหล่งที่ขาย จะซื้อที่ไหน
ขอให้สภาพดีแล้วมีราคาที่เหมาะสมกันเป็นพอ ถูกแต่สภาพไม่ดี ก็ไม่น่าสน
เต็นท์รับประกัน ซ่อมฟรี ดูแลฟรี ไม่ดีคืนเงิน
ความเชื่อผิด :
บริการหลังการขายตามโฆษณาซ่อมแบบค่าแรงฟรีเป็นระยะยาว
คิดว่าช่างจะดี บริการเยี่ยม เสียแต่ค่าอะไหล่ หรือซื้ออะไหล่เข้าไปเองได้
ความเป็นจริง :
เมื่อใช้บริการจริงกลับพบกับสารพัดปัญหา ช่างไม่เก่ง ค่าแรงฟรีจริง แต่บวกลงไปในค่าอะไหล่
จนแพงเกินจริงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จะซื้ออะไหล่ไปให้ก็อิดออด สารพัดจะบอกปัด
เป็นเรื่องปกติครับ ขายรถมือสอง 1 คันได้กำไรไม่กี่บาทจะมาดูแลหรือซ่อมฟรีกันในระยะยาว
ได้อย่างไร แทบไม่เคยเห็นเต็นท์ไหนประกาศออกมาแล้วบริการจริงๆ ได้ดีเลย
ความเข้าใจที่ถูกต้อง :
ไม่ต้องสนใจเงื่อนไขซ่อมแบบค่าแรงฟรี ยกเว้นเรื่องการรับประกันที่บางเต็นท์มีให้ในระยะสั้น
เช่น 1 เดือนซ่อมฟรีแบบไม่มีข้อแม้ ก็ควรทำเอกสารรับประกันให้รัดกุมและชัดเจนที่สุด
การเลือกรถยนต์มือสอง แบบที่ผู้ซื้อดูอะไรไม่เป็นเลย นอกจากสีเงาๆ และทดลองขับดู
เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก ถ้าสนใจจริงๆ ควรหาคนที่มีความรู้มากกว่า ถึงจะไม่เก่งมากแต่ก็ยังดี
และที่สำคัญคือ ลบความเชื่อผิดๆ ออกไปก่อน !
http://www.car-2-buy.com