ความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ ไม่ได้ขึ้นกับเทคนิคการขับขี่เพียงอย่างเดียว
การเตรียมตัวก่อนขับรถอย่างถูกวิธี ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยตลอดการขับขี่
สำรวจก่อนเปิดประตู
ถ้ามีเวลา ควรเดินสำรวจรอบรถยนต์สักนิด ดูว่ามียางเส้นไหนแบนบ้างหรือไม่ มีสัตว์หรือคนซุ่มอยู่หรือเปล่า
และเดินอ้อมมาดูอีกข้างก่อนจะเปิดประตูเข้าไปในรถยนต์ เป็นการเพิ่มความปลอดภัย
โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีระบบเซ็นทรัลล็อกแบบเปิดล็อกพร้อมกัน เพราะอาจมีมิจฉาชีพหมอบแอบอยู่
รอจังหวะเปิดประตูเข้าไปหลังจากเจ้าของรถเข้าไปนั่งในห้องโดยสารแล้วแต่ยังไม่ล็อก ก็คงโดนจี้ได้ง่าย ๆ
และไม่ควรเปิดเซ็นทรัลล็อกในขณะที่ยังอยู่ห่างรถยนต์มาก เพราะอาจโดนฉกฉวยทรัพย์สินภายในรถยนต์ได้
เมื่อขึ้นไปนั่งแล้ว ถ้าอยู่ในเมืองหรือมีผู้คนคับคั่ง ควรล็อกประตูทันทีเพื่อป้องกันการเปิดประตูจากภายนอก
ส่วนการเดินทางไกลหรือขับบนเส้นทางยาว ไม่ควรล็อกประตู
เผื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว คนภายนอกจะได้เปิดประตูเข้ามาช่วยเหลือได้
ตรวจสอบไฟเตือน
บิดกุญแจค้างไว้ในตำแหน่งก่อนสตาร์ท เพื่อให้ไฟเตือนต่าง ๆ บนหน้าปัดสว่างขึ้นและดูตามสีของไฟ
ถ้าเป็นสีแดง แสดงว่าเป็นการเตือนในระบบที่สำคัญมาก ถ้าสีส้มก็สำคัญรองลงไป ยังพอขับแบบประคองไปได้
บางไฟเตือนบนหน้าปัดจะสว่างขึ้นเพื่อแสดงว่าหลอดไม่ขาด และต้องดับลงหลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว
บางดวงต้องดับลงหลังบิดกุญแจค้างไว้ 3-5 วินาทีถึงจะแสดงว่าปกติ
ไฟเตือนพื้นฐานของรถยนต์ทุกรุ่น ต้องมีอย่างน้อย 2 ดวง คือ
ไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่องกับไฟเตือนการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่
ไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่อง เป็นรูปกาน้ำมันเครื่องหรือหยดน้ำมัน ต้องสว่างขึ้นเมื่อไม่มีแรงดันน้ำมันเครื่อง
เช่น ขณะดับเครื่องยนต์ ปั๊มน้ำมันเครื่องพัง หรือน้ำมันเครื่องขาดมาก ๆ
และไฟเตือนต้องดับลงเมื่อมีแรงดันน้ำมันเครื่องตามปกติ
ดังนั้น ไฟเตือนนี้ ควรดับลงในเวลา 1-2 วินาทีหลังสตาร์ทเครื่องยนต์ ถ้าดับช้าก็พอเดาได้ว่า
น้ำมันเครื่องไม่ปกติหรือปั๊มเริ่มเสื่อม หากไฟเตือนนี้สว่างขึ้นขณะขับ ควรรีบจอดและดับเครื่องยนต์ทันที
เพราะแสดงว่าตอนนั้นไม่มีน้ำมันเครื่องในการหมุนเวียน อาจเกิดจากปั๊มพังหรือน้ำมันเครื่องรั่ว
ถ้าปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานอยู่จะสึกหรอเร็วมาก
ถ้าน้ำมันเครื่องขาด ก็เติมแล้วขับต่อ ถ้าไม่ขาดก็แสดงว่าปั๊มพัง ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก
อย่างนั้นต้องลากไป ถ้าฝืนขับต่อเครื่องยนต์อาจเสียหายหนัก
ส่วนไฟเตือนการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ กลับเป็นรูปแบตเตอรี่ ไม่ใช่รูปไดชาร์จ ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่า
เป็นไฟเตือนสำหรับแบตเตอรี่ ซึ่งผิด เพราะถ้าไฟสว่างขึ้นจะแสดงว่า ณ ขณะนั้น ไม่มีการชาร์จไฟ ซึ่งก็เดาได้ว่า
ไดชาร์จเสียหรือสายพานขาด ยังพอขับไปจอดในที่ปลอดภัยได้ในระยะทางไกลกว่ากรณีไฟเตือนน้ำมันเครื่องสว่าง
ถ้าดูแล้วสายพานไม่ขาด แต่ไดชาร์จไม่ทำงานและไฟเตือนยังสว่าง
ก็แสดงว่ายังขับต่อไปได้จนกว่าไฟในแบตเตอรี่หมด โดยเฉลี่ยแล้วเกิน 10 กิโลเมตร
โดยควรปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อให้กินไฟน้อยและขับได้ไกลที่สุด
หากสายพานไดชาร์จขาด และสายพานเส้นนั้นไม่ได้คล้องกับปั๊มน้ำมันหรือพัดลม
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ก็พอจะขับต่อได้
ส่วนไฟเตือนถุงลมนิรภัยและเอบีเอส ถ้าสว่างขึ้นหลังบิดกุญแจและดับลงภายในเวลา 3-5 วินาที แสดงว่าปกติ
ถ้าสว่างขึ้นขณะขับ แสดงว่ามีความผิดปกติ ยังพอขับได้ โดยถุงลมนิรภัยหรือเอบีเอสอาจไม่ทำงาน
ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และนำรถเข้าซ่อมโดยเร็วที่สุด
ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์
ถ้าในเกียร์ธรรมดา ต้องอยู่ในเกียร์ว่าง พร้อมกับเหยียบคลัตช์ให้มิด เพราะนอกจากจะป้องกันการกระตุกแล้ว
ยังช่วยผ่อนแรงไดสตาร์ท เนื่องจากการเหยียบคลัตช์ในการตัดการหมุนของเครื่องยนต์กับชุดเกียร์
แม้จะอยู่ในเกียร์ว่างก็ควรเหยียบคลัตช์ โดยพิสูจน์ได้จากรถยนต์บางรุ่น
ถ้าไม่เหยียบคลัตช์ถึงบิดกุญแจแล้วก็เงียบ และควรดึงเบรกมือไว้ด้วย
ส่วนรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้เฉพาะเกียร์ P และN เท่านั้น
ถ้าอยู่ที่เกียร์อื่นแล้วสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ แสดงว่าผิดปกติ ต้องซ่อมโดยเร็ว
แม้เกียร์ P จะมีการล็อกป้องกันรถไหลแล้ว ก็ควรดึงเบรกมือไว้ด้วย
ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ควรปิดแอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อให้ไดสตาร์ทได้รับไฟฟ้าอย่างเต็มที่
เครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์บางรุ่น อาจต้องย้ำคันเร่งจนสุด 1-2 ครั้งแล้วปล่อยก่อนสตาร์ท
เพื่อให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงลงไปในท่อร่วมไอดีให้หนาขึ้นเตรียมไว้เพื่อให้สตาร์ทได้ง่ายขึ้น
ส่วนเครื่องยนต์หัวฉีดไม่มีความจำเป็นต้องแตะคันเร่งเลย เพราะจะมีการเพิ่มน้ำมันเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติ
อุ่นเครื่องยนต์ให้พร้อมใช้งาน
เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว อย่าเพิ่งออกตัวทันที ควรเดินเบาสักพักเพื่อให้เครื่องยนต์ปรับตัว
เครื่องยนต์หัวฉีดรุ่นใหม่ ๆ มักมีการเร่งรอบเดินเบาให้สูงกว่าปกติในขณะเครื่องยนต์เย็น
โดยอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 รอบต่อนาที สัก 3-5 นาทีก็มีจะตัดมาที่รอบเดินเบาปกติ
ส่วนเครื่องยนต์รุ่นเก่า ๆ ที่ไม่มีการเร่งรอบเพื่ออุ่นเครื่องยนต์ ถ้าไม่ติดตั้งระบบการเร่งรอบเพิ่ม
ก็ให้แตะคันเร่งไว้นิ่ง ๆ ที่ไม่เกิน 1,500 รอบต่อนาที
การปล่อยให้เครื่องยนต์ปรับตัว มีความจำเป็นในเชิงโลหะวิทยาและการหล่อลื่น จากสมัยก่อนที่มีการแนะนำว่า
ต้องอุ่นเครื่องอยู่กับที่จนเครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิทำงานก่อนแล้วค่อยออกตัว แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แล้ว
เพราะมีการทดสอบแล้วว่า เครื่องยนต์ที่เดินเบาอยู่กับที่ ถึงจะมีการเร่งรอบอยู่บ้าง
แต่การที่ไม่มีภาระในการฉุดลากน้ำหนัก ทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ปรับตัวได้ช้ามาก กลายเป็นว่ายิ่งรอยิ่งร้อนช้า
แต่การออกตัวทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ติดก็ผิดอีก เพราะเครื่องยนต์ยังไม่เริ่มปรับตัวเลย สึกหรอเร็วขึ้นแน่ ๆ
วิธีอุ่นเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง คือ หลังสตาร์ทเครื่องแล้วให้รอสักครึ่งหนึ่ง ถึง 1 นาที
เพื่อให้น้ำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ไหลเวียนอย่างทั่วถึง โดยในช่วงแรกยังไม่ควรเปิดแอร์
เพราะคอมเพรสเซอร์แอร์เป็นภาระกับเครื่องยนต์ ถ้าเครื่องยนต์ยังไม่พร้อมก็ไม่ควรเอาอะไรไปหน่วง
ถ้าทนร้อนไม่ไหว ก็รอให้เครื่องยนต์เดินเบาสัก 30 วินาที แล้วค่อยเปิดแอร์ก็ยังดี
หรือเปิดเฉพาะพัดลมโดยปิดปุ่ม เอ/ซี ไม่ให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน
นอกจากการอุ่นเครื่องอยู่กับที่นาน ๆ จะผิดหลักการแล้ว ถ้าอยู่ในอาคารจอดรถยังถือว่าผิดกฎหมายด้วย
ออกเดินทางอย่างมั่นใจ
เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ให้ขับออกตัวไปอย่างช้าๆ หรือช้ามากๆ แล้วค่อยๆเพิ่มการกดคันเร่งหรือไล่รอบสูงขึ้นทีละนิด
อย่างเพิ่งใจร้อน แค่ประมาณ 5 นาที เครื่องยนต์ก็ร้อนพร้อมใช้งานปกติแล้ว
เพราะการขับเคลื่อนเป็นการอุ่นเครื่องแบบมีภาระหรือโหลด เครื่องยนต์จึงร้อนเร็ว
การสตาร์ทเครื่องยนต์โดยไม่รอเลย แล้วขับออกไปพร้อมกับใช้รอบตามปกติ
ไม่ขับรอบต่ำหรือคลาน ๆ แม้เครื่องยนต์ไม่พังทันที แต่ในระยะยาวจะมีอายุการใช้งานสั้นลง
ที่มา มูลนิธิสว่างแสงธรรมกู้ภัย