ถ้าพูดถึงระบบเบรคที่ดีนั้นย่อมให้ความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ทั้งหลาย ทั้งนี้นอกจากชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบเบรค
ไม่ว่าจะเป็นจานเบรค แม่ปั๊มเบรก คาลิปเปอร์เบรค ผ้าเบรค ที่ต้องปฏิบัติงานอย่างถูกต้องแล้ว
น้ำมันเบรคที่จะใช้ในระบบเบรคก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะให้ความมั่นใจกับผู้ขับขี่ทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรค
เริ่มทำความรู้จักกับน้ำมันเบรค (Brake Fluid) ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ว่าคืออะไร ทำหน้าที่อะไร
สำคัญเช่นไร แล้วทำไมต้องดูแลหรือเปลี่ยนตามระยะเวลา หรือระยะทางตามที่กำหนด
น้ำมันเบรคคือ ของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดกำลังโดยของเหลว หรือเรียกว่าเป็นตัวไฮดรอลิกก็ได้
เมื่อเราเหยียบเบรคที่แป้นเบรค แรงดันที่เหยียบจะถูกถ่ายทอดผ่านของเหลว(น้ำมันเบรก)ในระบบไปยังห้ามล้อ
ทั้ง 4 ล้อ ซึ่งจะทำให้ความเร็วของรถช้าลง หรือหยุดตามแรงกดที่ต้องการ
น้ำมันเบรคที่ดีนอกจากจะเป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลัง (ไฮดรอลิก)จากแป้นเหยียบเบรคแล้ว
ยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกดังนี้
เป็นตัวหล่อลื่นส่วนต่างๆ ในระบบเบรก เช่น แม่ปั๊มเบรคและลูกปั๊มเบรค
เนื่องจากต้องมีการเสียดสีของลูกสูบเบรค ลูกยางเบรก ภายในแม่ปั๊มเบรค ลูกปั๊มเบรค นับครั้งไม่ถ้วน
ถ้าปราศจากการหล่อลื่นก็จะทำให้เกิดการสึกหรอ เกิดการรั่วภายหลังได้
มีความหนืดที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้ได้ในอุณหภูมิต่างๆ ไม่ว่าร้อนหรือเย็น
มีความหนืดที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ข้นเกินไปแม้ว่าจะใช้ในอุณหภูมิติดลบ
ไม่เป็นอันตรายต่อชิ้นส่วนที่เป็นโลหะในระบบหรือลูกยางต่างๆ
เนื่องจากระบบเบรคเป็นระบบความปลอดภัยที่สำคัญ ถ้าการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ ในส่วนของไฮดรอลิกบกพร่อง
จะเกิดอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสนิมในระบบสร้างแรงดัน หรือลูกยางเสื่อมสภาพ
มีจุดเดือดสูงและไม่ระเหยได้ง่าย
คุณสมบัตินี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวบอกว่าน้ำมันเบรคยังคงมีสภาพใช้งานได้อยู่หรือไม่
จุดเดือดสูงก็จะเสื่อมสภาพได้ยากกว่าและทนต่อแรงดันจากการที่เหยียบแรงๆ ต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี
คงสภาพได้นาน หมายถึง รักษาคุณสมบัติต่างๆ ได้นานไม่ว่าจะมีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
เช่น เรื่องของความชื้นหรือเกิดจากการใช้งานปกติ
มาตรฐานด้านความปลอดภัยได้กำหนดชื่อมาตรฐานสำหรับน้ำมันเบรคว่า DOT
(Department of Transportation) ที่เรียกจนติดปาก
โดยกำหนดจุดเดือดของน้ำมันเบรก DOT3 ไม่ต่ำกว่า 205 องศาเซลเซียส
DOT4 ไม่ต่ำกว่า 230 องศาเซลเซียส DOT5 260 องศาเซลเซียส
สำคัญอย่างไร
จากคุณสมบัติของน้ำมันเบรคจะเห็นได้ว่าจุดเดือดของน้ำมันเบรคเป็นสิ่งสำคัญ
เนื่องจากเวลาเราเหยียบเบรคที่ความเร็วสูงหรือบรรทุกหนัก อุณหภูมิที่ผ้าเบรคและจานเบรคจะสูงมาก
ความร้อนดังกล่าวจะถ่ายเทมายังน้ำมันเบรคด้วย ถ้าน้ำมันเบรคมีจุดเดือดต่ำจะสามารถระเหยและกลายเป็นไอได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดกำลัง หรือทำหน้าที่ไฮดรอลิกในระบบเบรคได้
จะทำให้เกิดเบรคไม่อยู่ เบรคจม หรือเรียกว่า เบรคแตก
ยกตัวอย่างการขับขี่ที่ใช้เบรคมากกว่าปกติ นั่นคือการใช้เบรคขณะลงเขา
กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ขับขี่ไม่ระวัง หรือใช้เบรคมากจนเกินไป
การลงเขาที่ถูกต้องนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าข้างทางจะมีป้ายเตือนให้ผู้ขับรถใช้เกียร์ต่ำ
ดังนั้นการใช้เกียร์ต่ำก็คือการให้เครื่องยนต์เป็นตัวช่วยในการเบรคนั่นเอง (Engine Brake)
การทำดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดภาระของระบบเบรคได้มากทีเดียว การใช้เกียร์ต่ำคือการลดเกียร์ลง เช่น
กรณีใช้เกียร์สี่อยู่ก็ให้ลดมาที่เกียร์สาม หรือเกียร์สอง ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าเวลาลดเกียร์ รอบเครื่องยนต์จะสูงขึ้น
นั่นก็คือการใช้เครื่องยนต์เป็นตัวช่วยเบรค การทำดังกล่าวก็สามารถทำกับเกียร์อัตโนมัติได้เช่นกัน
โดยดึงคันเกียร์จาก D มาที่ 3 หรือ 2 แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์ฉุดรั้งไว้ พร้อมทั้งเหยียบเบรคช่วย
จะทำให้อุณหภูมิเบรคไม่ร้อนจนเกินไป
สำหรับท่านที่ใช้เบรคมากเกินไปจนรู้สึกว่าเบรคไม่อยู่ หรือได้กลิ่นไหม้จากการเบรค ให้รีบจอดรถข้างทาง
รอจนกว่าเบรคจะเย็นหรือประมาณ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ลองทดสอบเบรคดู
ถ้าเบรคอยู่แล้ว ให้ค่อยๆขับต่อโดยขับช้าๆ พร้อมใช้เกียร์ต่ำ และเบรคเท่าที่จำเป็น
การขับรถช้าๆ ความเร็วของรถจะไม่สูง ดังนั้นการใช้เบรคก็จะน้อยตามไปด้วย
ทำไมต้องเปลี่ยน
จากตัวอย่างการเกิดเบรคจมหรือเบรคไม่อยู่ขณะลงทางชันหรือลงจากเขา ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมันเบรคไม่สามารถ
ทนความร้อนจากการเบรคในลักษณะการขับขี่ที่ไม่ถูกต้อง หรือน้ำมันเบรคเสื่อมสภาพ (จุดเดือดต่ำลง)
ดังนั้นการที่ต้องทำให้น้ำมันเบรคมีจุดเดือดสูงนั้น เนื่องจากว่าสารเคมีในน้ำมันเบรคมีคุณสมบัติดูดซับความชื้น
ยิ่งในเขตที่มีความชื้นสูงอย่างประเทศไทย ความชื้นยิ่งมีโอกาสแทรกไปปนอยู่ในน้ำมันเบรคได้ง่ายขึ้น
โดยจะทำให้จุดเดือดของน้ำมันเบรคลดลงตามลำดับ
ดังนั้นคุณสมบัติของน้ำมันเบรคจึงควรมีจุดเดือดสูงไว้ตั้งแต่แรก ได้เคยมีผู้ทดลองไว้ว่าภายในระยะ 12-15
เดือน น้ำมันเบรคสามารถดูดซับความชื้นทำให้จุดเดือดลดลงเหลือประมาณ 140 องศาหรือต่ำกว่า
ซึ่งถ้าหากใช้ต่อไปอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ได้
อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีการดูดซับความชื้นเข้าไปในระบบ (มีน้ำเข้าไป) ก็จะทำให้เกิดสนิมได้เมื่อใช้ไปนานๆ
บางครั้งเมื่อเราเจอปัญหาเรื่องเบรคไม่อยู่ หรือรั่ว ช่างก็จะถอดแม่ปั๊มเบรคออกมาดูจะพบว่าลูกยางตาย
เสื่อมสภาพ กระบอกสูบของแม่ปั๊มเบรคเป็นสนิม หรือตามด
ถ้าเกิดสนิมตามดเล็กน้อยก็สามารถใช้กระดาษลูบแก้ไข แต่ถ้ากินจนเนื้อหายก็ต้องเปลี่ยนทั้งแม่ปั๊ม
ท่านเจ้าของรถหลายท่านรวมถึงช่างบางคนก็ยังไม่รู้ว่าสนิมเหล่านั้นมาได้อย่างไร
ปัจจุบันมีเครื่องวัดคุณภาพของน้ำมันเบรคว่าน้ำมันเบรกที่เราใช้อยู่นั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่
หรืออยู่ในส่วนที่เป็นอันตรายแล้ว การวัดดังกล่าวใช้เวลาสั้นมากเพียงแค่ 2-3 วินาทีก็สามารถรู้ได้ว่า
น้ำมันเบรคเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง การวัดสภาพน้ำมันเบรคสามารถปรับตั้งค่าการวัดที่ตัววัดสภาพน้ำมันเบรคได้
เนื่องจากคุณภาพน้ำมันเบรค เกรดน้ำมันเบรคแตกต่างกัน (DOT) แล้วแต่ผู้ให้บริการ
หรือศูนย์บริการซ่อมเลือกใช้ การวัดจากเครื่องวัดจะบอกเป็นตัวเลขและสภาพไปพร้อมๆกัน ตัวอย่างเช่น
เลข “0” หมายถึง น้ำมันเบรคใหม่ (new oil) เลข “1-2” น้ำมันเบรคปกติ (Normal)
เลข “3-4” ควรเปลี่ยน (Change) เลข “5-6” อันตราย (Danger)
การเลือกเกรดน้ำมันเบรคปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายยี่ห้อตามแต่จะเลือกใช้ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้ยี่ห้อเดิม
หรือตามที่ศูนย์บริการเปลี่ยนให้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ DOT4 สามารถดูได้ข้างกระป๋องว่าที่เราใช้อยู่นั้นเป็นเกรด
หรือ DOT อะไร การเลือกใช้น้ำมันเบรคที่มี DOT สูงกว่าไม่เป็นการผิดแต่อย่างใด
แต่จะมีค่าตัวสูงกว่าเดิมเล็กน้อย การเปลี่ยนยี่ห้อน้ำมันจากที่เราเคยใช้อยู่นั้น ควรถ่ายของเดิมทิ้งให้หมด
แล้วเลือกเติมตามที่เราต้องการ แต่ควรเป็น DOT ที่เท่ากัน หรือสูงกว่าเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ใช้รถควรหมั่นตรวจสอบ และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคตามระยะที่กำหนด
โดยเฉพาะผู้ที่ขับรถด้วยความเร็วสูง ผู้ที่บรรทุกหนักหรือวิ่งทางลาดชันบ่อยๆ และใช้งานเบรคหนักต่อเนื่องบ่อย
ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรคทุกๆ 1 ปี ถ้าไม่แน่ใจก็ให้สอบถามตามศูนย์บริการมาตรฐานทั่วไป
โดยระยะเวลาหรือระยะทางของแต่ละบริษัท อาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เป็นพื้นฐานใกล้เคียงกัน
ดังนั้นอยากให้ผู้ใช้รถตระหนักถึงเรื่องน้ำมันเบรคด้วย เพราะถ้าระบบเบรคมีปัญหาในช่วงขับขันจะเกิดอันตรายทั้ง
ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ ผู้โดยสารรวมถึงบุคคลอื่นที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ที่มา http://www.one2car.com