น่าสนใจ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มารู้จักกับกระจกรถกันหน่อย

มารู้จักกับกระจกรถกันหน่อย

นานมาแล้วมีเพื่อนคนหนึ่งขับรถไปเที่ยว "เธค"ซึ่งนิยมกันมากในหมู่วัยรุ่นยุคนั้น จนกระทั้งเธคเลิกจะกลับบ้าน
ถึงได้มารู้ตัวว่าลืมกุญแจเอาไว้ในรถ ไม่รู้ว่าวิธีเปิดล็อคโดยใช้ลวดเขี่ยนั้นเค้าทำกันยังไง อีกทั้งเป็นเวลาดึกดื่น
(ความจริงใกล้สว่างแล้วต่างหาก)ไม่รู้ว่าจะไปหาช่างกุญแจได้ที่ไหน ด้วยความโมโห (สงสัยจะเมามากกว่า)
จึงตัดสินใจทุบกระจกมันซะเลย เพื่อนเห็นว่ากระจกหน้ามันบานโตราคาคงจะแพง ก็เลยหันมาทุบกระจกข้างแทน
(รถไม่มีกระจกหูช้าง) ผลปรากฏว่าอีตอนจะหาซื้อกระจกบานข้างใส่ปรากฏว่าหาซื้อลำบากมาก
แถมราคายังแพงกว่ากระจกหน้าอีก ตัวกระจกหน้ามีของเก่าญี่ปุ่นราคาไม่กี่ร้อย หรือเล่นของใหม่แค่พันนิด ๆ
ส่วนกระจกข้างของเก่าไม่มี ส่วนของใหม่ร่วมสองพัน เพราะกระจกข้างเป็นแบบไม่มีขอบ
ตัวแผ่นกระจกต้องแข็งแรงเป็นพิเศษ ต่างกับกระจกหน้าที่มีจุดยึดโดยรอบสามารถยึดและรองรับกระจกได้เต็มที่
งานนี้แทนที่จะเล่นของถูก กลับกลายเป็นว่าเจอของแพง แถมยังหาลำบากอีกต่างหาก

ประเภทของกระจก
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้ากระจกบังลมหน้า อย่าไปใส่ใจกับเรื่องของคนขี้เมา ขี้โมโห แถมขี้ลืมดีกว่า
ตัวกระจกหน้านั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 3 ชนิดด้วยกันแต่ละอย่างมีคุณภาพและคุณสมบัติแตกต่างกัน

กระจก Tempered
โดยทั่วไปที่ใช้ทำกระจกบังลมหน้าจะมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร หรือรถบางรุ่นที่มีเจตนาลดเสียงลมปะทะ
และเสียงก้องของกระจกหน้า ก็อาจมีการใช้กระจกหนาขึ้นกว่านี้อีกเล็กน้อย
กระจกแบบ Tempered จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

Zone-Tempered
คุณสมบัติของกระจกประเภทนี้ คือ เวลาเกิดเรื่องทำให้กระจกหน้าแตกขึ้นมา
ตรงไหนก็แล้วแต่ มันจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยลามไปทั้งบาน โดยมีลักษณะการแตกแบ่งเป็นบริเวณต่างกัน
แถวตอนล่าง แถวตอนกลางกระจกจะแตกเป็นผลึกหรือเม็ดโตหน่อยพอจะอาศัยมองเส้นทางได้บ้าง
แม้จะไม่ชัดเจนนัก ส่วนบริเวณแถวขอบกระจกจะแตกออกเป็นเม็ดเล็ก ๆ ขนาดย่อม
เค้ามักนิยมใช้กระจกประเภทนี้ทำเป็นกระจกบังลมหน้า

Full-Tempered
มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน คือ เวลาแตกมันจะลามไปทั้งบาน
โดยมีความแตกต่างกันตรงเวลาแตกแล้วจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ทั่วทั้งแผ่น ซึ่งเค้าจะออกแบบมาไม่ให้เม็ดกระจก
เหล่านี้มีความแหลมคม เพื่อไม่สร้างอันตรายต่อผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประมาท
เพราะถึงมันจะไม่แหลมก็จริง แต่ในเรื่องความคมยังพอจะบาดได้เหมือนกันในบางเหลี่ยมมุม

กระจกแบบ Laminate
กระจกนิรภัยแบบ Laminated นี้ ทั่วไปแล้วจะมีความหนาประมาณ 6 มิลลิเมตร
(กระจกกันกระสุดนั้นไม่เกี่ยว) หนากว่าพวกกระจกแบบ Tempered นิดหน่อย
กระจกแบบ Laminated ได้รับการพัฒนามาจากกระจกแบบ Tempered มีกระบวนการผลิตที่
ยุ่งยากซับซ้อนกว่า โดยการรีดกระจกออกมาเป็นแผ่นบางๆแล้วจับเอามาประกบกัน ซึ่งมีแผ่นฟิล์มใสทำจากไวนิล
นอกจากนี้ยามที่เกิดอุบัติเหตุ กระจกจะแตกร้าวเป็นเส้นเฉพาะบริเวณที่เกิดเรื่องเท่านั้น
ไม่ร้าวฉานไปทั้งแผ่นแบบกระจก Tempered รวมทั้งจุดที่กระจกแตกยังสามารถป้องกันลมและฝนไม่ให้
ซึมเข้ามาภายในได้ จึงยังสามารถใช้งานและขับขี่ต่อไปได้อย่างสบาย โดยทั่วไปกระจกแบบ Laminated
จะมีอายุการใช้งานได้ทนทานและยาวนาน อย่างไรก็ตามมันก็มีการเสื่อมหรือเริ่มหมดอายุเหมือนกัน
ซึ่งจะมีลักษณะเป็นฝ้าตามขอบและมุมกระจก ที่ช่างสมัยก่อนเค้าเรียกว่า "ลมเข้า" นั่นแหละ


คราวนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากระจกที่ติดรถเรามานั้นเป็นกระจกชนิดใด โดยไม่ต้องรอให้มันแตกซะก่อน
โดยทั่วไปเค้าจะพิมพ์ประเภทของกระจกติดเอาไว้แถวมุมกระจก ถ้าไม่มีให้สังเกตได้จากเงาสะท้อนของกระจก
พวกกระจกแบบ Tempered หลังจากทำความสะอาด จะพบว่ามีลายสะท้อนออกสีเหลือบฟ้าแนวตั้งให้เห็น
ถ้ามีลายแบบนี้แสดงว่าเป็นกระจกแบบ Tempered แน่นอน


อยู่ดี ๆ กระจกก็แตกเฉยเลย...!!??
มักจะเจอะเจอกันบ่อย ๆ ว่าขับรถอยู่ดี ๆ กระจกก็เกิดการแตกขึ้นมาเฉยเลย ส่วนใหญ่มักจะโทษว่า
มาจากอุณหภูมิที่แตกต่างระหว่างภายในรถที่เปิดแอร์ กับอุณหภูมิอันร้อนมหากาฬของภายนอก หรือบ้างก็ว่า
เป็นเพราะจอดรถทิ้งไว้กลางแดดจนกระจกรถร้อนจัด แล้วรีบเปิดแอร์ทำให้กระจกเย็น หรือ
หดตัวอย่างรวดเร็วกระจกร้อน ๆ มาเจอความเย็นก็เลยแตก

ตัวการที่แท้จริงคงไม่ใช่เรื่องของความร้อนหรือการจอดรถ ตลอดจนการขับรถท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด
มิฉะนั้นไปเปิดร้านขายกระจกแถวประเทศถิ่นทะเลทรายคงรวยไปแล้ว
เพราะแถบนั้นบางประเทศร้อนยิ่งกว่าบ้านเราซะอีกแถมเวลากลางคืนอากาศก็เย็นจัดอีกต่างหาก
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มีความแตกต่างกันมาก เรื่องเหล่านี้บริษัทผู้ผลิตกระจกเค้าได้คำนึงมาเป็นอย่างดี
มีการออกแบบให้กระจกตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ สามารถทนต่อความร้อนจากแสงแดดได้
เพราะเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอกันอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องของการขยายตัวตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของรูปทรง
เมื่อได้รับความร้อน ด้วยเหตุนี้เจ้าความร้อนจึงไม่ใช่ตัวการหลักที่จะทำให้กระจกแตก
เพียงแต่ความร้อนจะเป็นตัวการส่งเสริมให้กระจกแตกได้ต่างหาก เช่นเดียวกันกับสะพานที่ตามปกติสามารถรอง
รับน้ำหนักคนข้ามได้สบาย ต่อให้ควบพ่อ "บุญเลิศ" ห้อตะบึงผ่านไปลุยสะพานก็ยังเฉย
แต่ถ้าสะพานชำรุดเสียหายอยู่แล้ว แค่ตัวเด็กเล็ก ๆ เดินผ่านสะพานก็พัง
แบบนี้เราจะว่าเด็กเป็นตัวการที่ทำให้สะพานพังได้หรือเปล่าล่ะ...??!!


โครงสร้างรถมีปัญหา
รถบางรุ่นบางยี่ห้อ อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของโครงสร้างจากการประกอบที่ยังไม่เนี้ยบพอ
ทำให้มีการบิดอยู่เล็กน้อย ลำพังการใช้งานตามปกติก็ไม่มีปัญหาอันใด
แต่เมื่อตัวรถมีการบิดตัวหรือเกิดการกระแทกแรง ๆ อย่างเช่น การเลี้ยวโค้ง หรือกระแทกกับคอสะพาน
ก็อาจจะทำให้กระจกแตกได้ จนกระทั่งรถบางรุ่นถึงกับบอกว่า "ถ้ากระจกไม่แตกไม่ใช่ของแท้" ก็มี
หรือบางครั้งเป็นรถยอดนิยมขายดีจนประกอบไม่ทัน บริษัททำกระจกต้องเร่งผลิตเพื่อให้ทันกับการประกอบ
คุณภาพอาจจะด้อยไปบ้าง หรือเป็นด้วยความรีบ กระจกบางบานอาจจะไม่ได้สเป็คแต่คลาดเคลื่อนนิดหน่อย
ก็มีการหยวน ๆ กันบ้าง บางครั้งจึงเกิดปัญหากระจกแตกได้ (ง่าย)


กระจกเป็นโรคเครียด
เรื่องนี้มักเกิดขึ้นโดยผู้ขับขี่ไม่ทราบ คือ กระจกบังลมหน้าได้รับความเครียด
จนกระทั่งทำลายความแข็งแรงของกระจกให้หมดไป ซึ่งความเครียดนี้มันไม่สามารถมองเห็นกันได้
ไม่มีร่องรอยบ่งบอกปรากฏไว้ จะมารู้ก็ต่อเมื่อกระจกระเบิดซะแล้ว
สำหรับตัวสร้างความเครียดมักเกิดขึ้นจากการกระทบกับวัสดุขนาดเล็ก พวกเศษหินที่ดีดมาจากรถคันหน้าหรือ
รถที่วิ่งสวนทาง ขณะที่ก้อนหินกระเด็นมาโดนกระจก ถ้าเป็นมุมตรงก็หนักหน่อยแรงกระทบจะมีมาก
ทำให้เกิดเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ ขึ้นในเนื้อกระจกแต่มันจะมีขนาดเล็กมากจนกระทั่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
หรือถ้าเป็นก้อนหินขนาดเขื่องซักหน่อยก็จะเกิดเป็นรอยกะเทาะเล็ก ๆ บางคนยังเข้าใจว่ากระจกรถตัวเองแข็งแรง
เจอก้อนหินเข้าไปยังเฉย โดยหารู้ไม่ว่าตัวก่อเรื่องได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกันกับก้อนหินขนาดเล็กที่กระเด็นมาถูก
กระจกในมุมเฉียง ก็สามารถเกิดรอยกระเทาะเล็ก ๆ และสร้างความเครียดให้กับกระจกได้

เมื่อกระจกได้รับความร้อนจากแสงแดด ทำให้แผ่นกระจกมีการขยายตัว ถ้าเป็นสภาวะปกติมันก็ไม่มีปัญหาอันใด
เพราะการขยายตัวของกระจกทั้งแนวตั้งและแนวนอน เป็นไปอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น
ตามที่มีการคำนวณเอาไว้แล้วแต่ในกรณีที่กระจกมีรอยร้าว หรือรอยกะเทาะเกิดขึ้น
การขยายตัวก็จะต่างกันทำให้ไม่สม่ำเสมอเท่าเทียมกัน และเป็นตัวการที่ทำให้กระจกแตก


เปลี่ยนกระจกใหม่
โดยทั่วไปการเปลี่ยนกระจกใหม่ ทางบริษัทรถมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะกระจกที่นำมาเปลี่ยนนั้นได้มาตรฐาน
การวัดขนาดและตรวจสอบด้วยเครื่องโมลด์ เกจ มาแล้ว รวมทั้งกลวิธีและอุปกรณ์ในการเปลี่ยนก็ได้มาตรฐาน
แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกศูนย์จะเจ๋งเสมอไป ประเภทเปลี่ยนกระจกแล้ว "ขาเปียก"ตอนฝนตก จากการรั่วซึม
ของกระจกก็ยังมีให้เจอได้บ้างเหมือนกัน มีหลายท่านไม่นิยมเปลี่ยนกระจกกับทางศูนย์ เพราะราคาค่อนข้างแพง
ก็เลยหันไปเล่นของถูกจากร้านกระจกทั่วไป ซึ่งมีเรื่องหลายอย่างที่ต้องใส่ใจ
มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหากระจกแตกหรือเกิดการรั่วซึมในภายหลังได้


รูปแบบของการติดตั้ง
การยึดกระจกเข้ากับตัวรถนั้นมีหลายแบบ เช่น แบบใช้ยางขอบกระจกหรือแบบใช้กาวหยอดแล้ววางประกบลงไป
พวกรถที่ใช้ยางขอบกระจกควรจะเปลี่ยนยางของกระจกทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนกระจก
ทั้งนี้เพราะยางที่ผ่านการใช้งานไปเมื่อมีการถอดออกมาแล้วใส่เข้าไปใหม่
อาจเกิดการยืดตัวหรือไม่เข้ากับรอยเดิมได้สนิท มักจะทำให้เกิดการรั่วซึม

ส่วนประเภทที่ใช้กาวหยอดยึดเอาไว้ ก็ต้องมีการขูดเอากาวเดิมออกให้หมด พร้อมทำความสะอาดรวมทั้งเทคนิค
ในการติดตั้งก็ต้องมีเยอะด้วย ไม่ว่าจะเป็นชนิด ปริมาณ และตำแหน่งของกาวที่ใช้ ระยะเวลาที่รอให้กาวเซ็ตตัว
การเว้นช่องว่างของขอบกระจกการวางตำแหน่งกระจกไม่ได้ฉาก ฯลฯ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้


กระจกมาตรฐานต่ำ
กระจกรถมีทำขึ้นมามากมายหลายบริษัท บางแห่งก็ได้เรื่อง บางทีก็ไม่ค่อยได้ความ ตั้งแต่คุณภาพของเนื้อกระจก
ไม่ว่าจะเป็นความใสหรือการหลอกตา ขนาดของกระจกไม่ได้มาตรฐาน ทั้งความกว้าง ความยาวและความหนาด้วย
บางทีเป็นของคัดเกรดทิ้งมาจากบริษัทรถ ซึ่งไม่ได้สเป็คตามที่กำหนดแล้วคนผลิตเสียดายไม่อยากทุบทิ้ง
เลยนำออกมาจำหน่ายในราคาถูก ถ้าผิดสเป็คเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามากนักมันก็มีปัญหาได้


โครงสร้างตัวถัง
พวกรถที่มีอุบัติเหตุอาจได้รับการซ่อมแซมมาไม่ดีเท่าที่ควร โครงสร้างมีการบิดตัว
แบบนี้ก็มีปัญหากับการเปลี่ยนกระจก ถ้าพบว่ารถเคยมีอุบัติเหตุแม้จะไม่เกี่ยวกับโครงหลังคาและกระจกแตกเป็น
ประจำ หรือเกิดการรั่ว อาจมีปัญหากับโครงสร้างตัวรถซึ่งเกิดการบิดตัว อันเป็นผลกระทบจากการชนมานั่นเอง

อาการแตกแบบนี้ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกันนะครับ

ที่มา นิตยสารอย่าขับอย่างเดียว