การที่เราขับรถแล้วพบว่ามีอาการดึงไปข้างใดข้างหนึ่งทำให้ต้องคอยหักพวงมาลัยขืนเอาไว้
ตัวปัญหา มีด้วยกันหลายจุด ต้องพิจารณากันให้ดี
เกิดเพราะยาง
เกิน 50% ที่อาการดึงของรถมีสาเหตุมาจากยาง เช่น แรงดันลมอาจจะต่ำไป
ก่อนจะไปพิจารณาที่อื่นควรทดลองวัดแรงดันลมยางเป็นอย่างแรก หากมีปัญหาลมยางอ่อน
ก็จัดการเติมให้ได้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด แต่ถ้าลมยางถูกต้องหรือเติมไปเรียบร้อยแล้วแต่อาการ
ดึงยังคงมีอยู่ หากยางที่ใช้เป็นยางใหม่และก่อนหน้าจะไปเปลี่ยนยางก็ไม่เคยมีอาการดึงแบบนี้
มาก่อนแสดงว่า ตัวปัญหาอยู่ที่ยางชุดใหม่ โดยอาจจะเกิดจากขั้นตอนการผลิตที่มีการวางเส้น
เข็มขัดรัดหน้ายางไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่า Off Center Belt
เวลายางกลิ้งไปบนถนนจะทำให้เกิดแรงกระแทกทางด้านข้าง (Side Force) เอาชนะแรง
ที่ทำให้ยางกลิ้งในทางตรง (Roll Straight Ahead) การทดลองให้รู้คือ
สลับยางหน้าทั้ง 2 เส้น ถ้าอาการดึงเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม ชัวร์ว่ายางเป็นเหตุได้เลย
หากไม่สามารถเปลี่ยนยางเส้นใหม่ได้ก็ต้องลองสลับเอายางจากล้อหลังมาใช้แทน
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการพวงมาลัยดึง เป็นเรื่องของการใช้ยางเก่าหรือยางกลางเก่ากลาง
ใหม่ ยางที่มีการสึกของดอกยางมากน้อยต่างกันแต่กลับนำมาใช้ร่วมกัน
การใช้ยางผิดประเภทหรือการใช้ยางต่างขนาด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการดึงเช่นกัน
ช่วงล่างมีปัญหา
หลังการทดลองสลับยางแล้วพบว่าอาการดึงของพวงมาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลง
หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เคยดึงไปทางด้านไหนก็ยังคงดึงไปทางเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนใจ
แสดงว่างานนี้ยางไม่เกี่ยวก็ต้องพิจารณาที่จุดอื่น เช่น อาจเกิดจากศูนย์ล้อไม่ถูกต้อง
โดยแม้จะคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้รถเกิดอาการดึงไปด้านใดด้านหนึ่งได้
โอกาสที่ศูนย์ล้อจะเกิดการผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปนั้นมีได้มาก อย่างเช่น ถ้ายางมีการสึกหรอมาก
แต่ค่อนข้างสม่ำเสมอที่ขอบหน้ายางด้านใดด้านหนึ่ง จะมีผลทำให้มุมแค็มเบอร์ผิดไป
และจะเกิดอาการดึงมากขึ้นยามขับบนถนนต่างระดับหรือพวกถนนหลังเต่า
แต่หากขอบหน้ายางด้านใดด้านหนึ่งสึกเป็นจุด เป็นชั้นหรือสึกไม่เรียบ ปัญหาก็เหมือนกับว่า
ระบบช่วงล่างหลวมหรือตัวรองรับน้ำหนักทรุดทำให้มุมแค็มเบอร์เปลี่ยนไปเป็นจังหวะๆ
ขณะที่รถวิ่งพวกคอยล์สปริงหรือแหนบที่นิ่มล้าหรือทรุดตัวแล้วจะเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลทำให้
ชุดแค็มเบอร์เปลี่ยนแปลง รถที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักเป็นคอยล์สปริง เราสามารถทดสอบและ
ตรวจเช็คว่ามันล้าหรือทรุดตัวหรือยังได้หลายทาง เช่น จากการสังเกตเวลาเลี้ยวโค้งเร็ว ๆ
จะพบว่าตัวรถมีอาการเอียงตัวมากกว่าปกติ หรือตรวจสอบความสูงของตัวรถเมื่อพบว่าความสูง
ทางด้านหน้ากับด้านหลังตลอดจนด้านซ้ายกับด้านขวามีความสูงแตกต่างกันเกินกว่า 13 มม.
หรือ ½ นิ้ว ก็แสดงว่าสปริงล้าหรือทรุดตัวแล้ว สำหรับรถที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักเป็นแหนบ
ต้องตรวจสภาพแหนบว่ายังอยู่ดีหรือไม่แหนบหักหรือเปล่า
พวกน็อตสาแหรกยึดตับแหนบมีรายการ หลุดหลวม คลายตัวหรือไม่
พวกหูแหนบหรือโตงเตงแหนบมีการชำรุดหรือไม่ พวกที่ใช้ระบบรองรับน้ำหนักแบบทอร์ชั่นบาร์
เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็มีอาการล้าและทรุดตัวได้เช่นเดียวกัน
และบางทีด้านซ้ายกับด้านขวาจะทรุดไม่เท่ากัน จากการรับน้ำหนัก จะแตกต่างกัน
หากนั่งคนเดียวบ่อยๆด้านขวามักจะทรุดมากกว่า แต่ระบบรองรับน้ำหนักแบบทอร์ชั่นบาร์นี้ดี
อยู่อย่างคือ สามารถปรับตั้งระดับความสูงได้ จึงควรตรวจเช็คระดับความสูงของรถให้เท่ากัน
ลูกปืนและลูกหมาก
เป็นอีกจุดที่สามารถสร้างปัญหาให้รถเกิดอาการดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ควรตรวจสภาพของลูกปืนล้อและลูกหมากหากทำเองไม่ได้ก็ควรนำรถไปหาช่าง
การตรวจสอบลูกหมากนี้สามารถทำต่อเนื่องจากการตรวจสอบลูกปืนล้อได้เลย
ยังมีอีกหลายจุดที่ทำให้เกิดปัญหาพวงมาลัยหันไม่ตรงกับทิศทางที่เราขับรถไป
ต้องเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ มุมแคสเตอร์มีปัญหา
เนื่องจากมุมแคสเตอร์จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการดึงของล้อหลังจากที่ได้หักเลี้ยวไปแล้ว
หากมีปัญหาก็จะมีผลกับน้ำหนักของพวงมาลัย การตอบสนองของพวงมาลัย การเลี้ยว
รวมทั้งยังมีผลกับการทรงตัวของรถยามเบรก และประสิทธิภาพในการหยุดรถอีกด้วย
แต่ถ้าเหยียบเบรกเพื่อชะลอหรือหยุดรถแล้วพบว่าพวงมาลัย ถูกดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง
แบบนี้แสดงว่าตัวการเกิดขึ้นจากระบบเบรกซึ่งก็ต้องพึ่งพาให้ช่างเขาจัดการให้เช่นกัน
ข้อมูล : นิตยสารยานยนต์