การใช้ยางรถยนต์ไม่ใช่แค่ใส่ยางเข้ากับกระทะล้อแล้วจบ แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกไม่น้อย
เพื่อช่วยให้ยางมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดอายุการใช้งาน และเพิ่มความปลอดภัยตลอดการขับ
ยางใหม่ต้อง "รัน - อิน"
ไม่เฉพาะรถยนต์และเครื่องยนต์เท่านั้น ที่จะต้องมีการรัน-อิน ยางใหม่ก็เช่นกัน
ในช่วง 100-200 กิโลเมตรแรก ควรใช้ความเร็ว ไม่เกิน 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เพื่อให้โครงสร้างแก้มยาง และหน้ายางมีการปรับตัว เพราะยางทุกเส้นถูกผลิตออกมาให้รับกับมุมแคมเบอร์ของล้อ
เท่ากับ 0 คือตั้งฉากกับพื้น แต่รถยนต์ทุกคันไมได้มีมุมแคมเบอร์เท่ากับ 0 มีทั้งแบะหรือหุบในช่วงแรก
จึงต้องใช้เวลาให้ หน้ายางสึกปรับตัวรับกับศูนย์ล้อ
ต้องถ่วงล้อ
เพราะยางต้องหมุนนับพันรอบต่อนาที โดยเฉพาะล้อคู่หน้าที่มีการเลี้ยงด้วยจึงต้องมีการถ่วงสมดุล
เพราะถ้าล้อคู่หน้าไมได้สมดุล มักมีอาการพวงมาลัยสั่นในบางช่วงความเร็ว
และทำให้ลูกปืนล้อหรือช่วงล่างมีอายุการใช้งานสั้นลงด้วย เมื่อเปลี่ยนยางใหม่หรือถอดยางออกจากกระทะล้อ
เพื่อสลับยางหรือเปลี่ยนยาง ต้องมีการถ่วงสมดุลใหม่เสมอ
เมื่อใช้งานไปสัก 40 - 50 % ของอายุการใช้งานยาง ควรถอดมาถ่วงสมดุล
เพราะการสึกหรออาจไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าใช้วิธีถอดกระทะล้อออกมาถ่วงสมดุล
แล้วยังมีอาการสั่นของพวงมาลัยบางช่วงความเร็ว ต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีถ่วงแบบจี้ คือ ไม่ต้องถอดล้อออกจากรถยนต์
เป็นการถ่วงสมดุลกระทะ ,ยาง ,จานดิสก์เบรก ,เพลาขับ ,ลูกปืนล้อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
แต่โดยทั่วไป การถอดล้ออกมาถ่วงภายนอกก็เพียงพอแล้ว
(น้อง)ลมยาง....ศัตรูหมายเลข 1 ของยางรถยนต์
แรงดันลมมาตรฐานของยางรถยนต์ทุกรุ่น มีระบุไว้บนสติ๊กเกอร์ที่ตัวรถยนต์หรือคู่มือประจำรถยนต์
ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 28-32 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) สำหรับรถยนต์นั่ง การวัดแรงดันลมยาง
ต้องใช้มาตรฐานที่ได้มาตรฐานและวัดตอนที่ยางเย็นหรือร้อนไม่มาก (ขับไม่เกิน 2-36 กิโลเมตร)
การเติมและวัดลมยางตามปั๊มน้ำมันพร้อมเติมน้ำมันฯ ก็สะดวกดี แต่เมื่อยางร้อนแล้วต้องเผื่อแรงดันที่วัดได้
ว่าจะเกินจากมาตรฐาน สัก 1-2 ปอนด์ เสียเวลาถามผู้ที่วัดลมยางให้ว่า
ยางเส้นไหนมีระดับแรงดันลมยางต่ำกว่าเส้นอื่นมากๆนั่นแสดงว่ามีปัญหารั่วซึม
ไม่ควรใช้สายตาในการเดาแรงดันลมยาง
โดยดูจากการยุบตัวของแก้มยางเพราะแม้ลมยางจะอ่อนลง 10 ปอนด์/ตารางนิ้ว ก็อาจจะมองไม่เห็น
ด้วยความแตกต่าง มาตรวัดแรงดันลมตามปั๊มน้ำมันมักถูกใช้งานหนัก อาจแสดงค่าผิดเพี้ยน
ควรซื้อมาตรวัดแรงดันลมส่วนตัวไว้ และต้องเลือกแบบที่มีมาตรฐาน ราคาแพงสักหน่อยแต่ว่าได้ค่าที่แม่นยำกว่า
ปั๊มหรือเครื่องมือเติมลมส่วนตัวมี 2 แบบหลัก คือ แบบเท้าเหยียบ ควรซื้อแบบลูกสูบจะรวดเร็วและเบาแรงกว่า
หรือแบบปั๊มไฟฟ้า เสียบกับที่จุดบุหรี่ในรถยนต์ แต่อาจจะไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง
หากละเลยการตรวจสอบลมยาง มักเกิดปัญหาแรงดันลมน้อย -ยางอ่อน ทำให้แก้มยางมีการบิดตัวมากและร้อนง่าย
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น และอัตราเร่งลดลงจากแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้น
และหากลมยางอ่อนมากๆ จะทำให้โครงสร้างภายในเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
และมีการสึกหรอบริเวณนอกซ้าย -ขวา ของหน้ายางมากกว่าแนวกลาง
บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเติมยางเกินไว้น่าจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องตรวจสอบบ่อยๆ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
เพราะแรงดันลมยางที่มากเกินไปทำให้ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดลง จากหน้าสัมผัสที่ลดลง กระด้าง
และถ้าลมยางแข็งมากๆ จะเสี่ยงต่อการระเบิด และมีการ สึกหรอบริเวณแนวกลางมากกว่าริมนอกซ้าย-ขวา
เดินทางไกล อย่าลืม...เติมแรงดันลมเพิ่ม
ควรเติมแรงดันลมยางแข็งกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันยางร้อนมาก หรือแรงดันลมสูงเกินไป
จนระเบิด อาจตรงข้ามกับความคิดผิดๆที่ว่า เมื่อเดินทางไกล ยางหมุนด้วยความเร็วสูงและต่อเนื่อง ยางน่าจะร้อน
และมีแรงดันลมเพิ่มขึ้น จากหลักการของก๊าซ อากาศร้อนจะขยายตัว ทำให้แรงดันลมเพิ่ม
จึงคิดว่าน่าจะลดแรงดันลมลงจากปกติ ซึ่งผิด หากมีการลดแรงดันยางลงในขณะที่เดินทางไกล ยางจะกลับร้อนและ
มีแรงดันสูงมาก เพราะแก้มยางจะบิดตัวมากจนร้อน และทำให้แรงดันลมสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว วิธีที่ถูกต้อง คือ
เพิ่มแรงดันลมขึ้น 2-3 ปอนด์ เพื่อป้องกันการเปิดตัวของแก้มยางมากจนร้อน เป็นการป้องกันล่วงหน้า เช่น
ยางที่มีแรงดันลม 32 ปอนด์ มากกว่าปกติ 2 ปอนด์ เมื่อเดินทางไกลอาจจะมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นจากความร้อน
เพียง 2 ปอนด์ แต่ถ้าแรงดันลมเหลือ 28 ปอนด์ ยางจะบิดตัวมากและร้อนมากกว่าอาจมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นถึง
5-6 ปอนด์ และก็เป็นลมที่มีความร้อนสูงกว่าการเติมลมแรงดันสูงเผื่อไว้
เบียดทางเท้า ระวังแก้มยาง
การเข้าจอดเลียบทางเท้าหรือทางที่มีขอบสูง ระวังแก้มยางไปเบียด ทั้งในขณะจอดหรือจอดเบียดแก้มยางทิ้งไว้
เพราะจะทำให้แก้มยางบวมหรือรั่ว ซึ่งไม่สามารถซ่อมแก้มยางให้ใช้งานได้ปกติเหมือนหน้ายางรั่วได้
ต้องเปลี่ยนเส้นใหม่เท่านั้น
สลับยาง
ทุก 10,000 กิโลเมตร ควรสลับยางพร้อมกระทะล้อหน้า-หลังในแต่ละด้าน
เพื่อให้มีการสึกหรอใกล้เคียงกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางคู่ที่ใส่กับล้อขับเคลื่อนจะมีการสึกหรอมากกว่ายางอีกคู่หนึ่ง
อย่าลืมดูทิศทางการหมุนและถ่วงล้อใหม่ด้วย
แนวทางการสลับยางและระยะทางที่เหมาะสม มักมีกำหนดในคู่มือประจำรถยนต์
ถ้าไม่สลับยางแล้วมีการสึกหรอไม่เท่ากัน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนยางครั้งละคู่หรือ 2 ล้อ
เพราะทำให้ต้องเปลี่ยนสลับครั้งละคู่ไปเรื่อยๆ เสียเวลาและไม่ถูกต้อง
ในการเปลี่ยนยางไม่ควรใช้ยางต่างรุ่นดอกกันในแกนล้อเดียวกันเพราะประสิทธิภาพการเกาะถนนจะแย่ลง
ควรใช้ ยางขนาดเดียวกันและรุ่นเดียวกันทั้ง 4 ล้อ
หมั่นตรวจสอบการสึกหรอของดอกยาง
นอกจากตรวจสอบความลึกของดอกยางและสลับตามระยะทางแล้ว
ยังควรหมั่นสังเกตการสึกหรอที่ผิดปกติตลอดหน้ายาง ซึ่งมีหลายลักษณะ ถ้าหน้ายางสึกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
แสดงว่าศูนย์ล้อผิดปกติ แต่ถ้ามีการสึกไม่เรียบเสมอกันตลอดหน้ายาง หรือสึกเป็นบั้งๆอาจเกิดจากระบบช่วงล่าง
ควรรีบแก้ไข เพราะมีผลต่ออาการทรงตัวของรถด้วย
ไม่จอดทิ้งไว้นาน
รถยนต์ที่ใช้งานน้อย จอดนิ่งอยู่กับที่น้ำหนักของตัวรถทั้งหมดจะกดลงสู่ยางแต่ละเส้นในจุดเดียว
โครงสร้างภายในและแก้มยางจะมีการยืดตัวและเสียความหยืดหยุ่น
ยิ่งจอดนิ่งนานๆโครงสร้างของยางยิ่งมีโอกาสเสียง่ายขึ้น ถ้าต้องจอดนานมากทุก 1 สัปดาห์ต้องสตาร์ท
เครื่องและนำรถออกไปแล่นอย่างน้อย 2-3 กิโลเมตร หรือเดินหน้าถอยหลัง 5-10 เมตรหลายๆครั้ง
เพื่อให้แก้มยางและโครงสร้างของ ยางมีการขยับตัว
น้ำยาเคลือบ สวยแต่ต้องระวัง
เป็นเรื่องปกติที่คนไทยที่รักสวยรักงาม น้ำยาเคลือบแก้มยางเพื่อเพิ่มความสวยงาม
น้ำยาบางชนิดมีฤทธิ์ต่อเนื้อยาง ทำให้บวมหรือ เปื่อยในระยะยาว ควรเป็นสารประเภทซิลิโคนจะปลอดภัยกว่า
เมื่อไรหมดสภาพ
ยางหมดอายุได้ในหลายลักษณะหลัก เช่น ดอกหมด ,ไม่เกาะ ,เนื้อแข็ง ,โครงสร้างกระด้าง ,แตกปริ ,
แตกลายงา ,เสียงดัง หรือ แก้มยางบวม เกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กันก็ถือว่าหมดอายุ ไม่จำเป็นต้อง
ดอกหมดแล้วยางถึงจะหมดสภาพเสมอไป เพราะความลึกของดอกยางเกี่ยวข้องกับการรีดน้ำ ฝุ่นและโคลนเป็นหลัก
ส่วนประสิทธิภาพการเกาะถนนและการทรงตัว ขึ้นอยู่กับความแข็งของเนื้อยาง และโครงสร้างภายใน
ยางรถยนต์ส่วนใหญ่จะเริ่มแข็งตัวขึ้นทีละนิด แต่จะรู้สึกได้ชัดเจนเมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง
(ประมาณ 1 ปีหรือ 20,000 กิโลเมตร) ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางที่แพ้ความร้อน
เมื่อเนื้อยางแข็ง ดอกยางก็ไม่ค่อยสึก แต่แรงเสียดทานระหว่างหน้ายางกับผิวถนนจะลดลง
หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานแล้ว
ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่
ทดสอบง่ายๆโดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายางเก่า เปรียบเทียบกับยางใหม่ๆเนื้อยางเก่ามักแทบจิกไม่ลง
อายุการใช้งานของยาง สำหรับเมืองไทย เฉลี่ยประมาณ 3 ปี หรือ 50,000-60,000 กิโลเมตร
ก็ถือว่ายางเสื่อมสภาพแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและลักษณะการใช้งาน ถ้าใช้งานเกินระยะทางข้างต้น
ควรพิจารณาอย่างละเอียดว่าสภาพของยางดีหรือไม่ เพราะพบว่ายางรถยนต์หลายรุ่น สามารถใช้งานได้นานกว่านั้น
ควรหลีกเลี่ยงยางเก่าเก็บ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงไปอีก
ที่มา ผู้จัดการ