รถยนต์สมัยนี้มักจะติดไฟสัญญาณแปลกๆ ซึ่งบางทีกฎหมายจราจรที่ค่อนข้างจะโบราณ
ก็ไม่ได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้ใช้สัญญาณอะไรบ้าง ทำให้หลายคนเลือกติด
และใช้กันตามอำเภอใจ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่หลายคนปฏิบัติต่อๆ กันมา
ความจริงแล้ว ไฟต่างๆเหล่านี้ เป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง และในเรื่องของความปลอดภัยบนท้อง
ถนน ถือว่า "สัญญาณ" นั้นเป็นภาษาของถนน ซึ่งต้องเป็นสากล หมายความว่าไม่ว่าชนชาติ
ใด พูดภาษาใด จะต้องฟังหรืออ่านภาษาของถนนอันเป็นสากลนี้เข้าใจแจ่มชัดเหมือนกันหมด
ไฟหน้าเจ้าปัญหา-สื่อสารผิดๆ
ไฟสัญญาณอันดับแรกที่กลายเป็นธรรมเนียมอันไม่เป็นสากล และน่าจะเกิดอันตรายก็คือ
ไฟหน้าใหญ่ ที่ผู้ขับขี่ยวดยานชอบเปิดกัน แว็บๆ ให้หลายคนสงสัยว่ามันหมายความว่าอะไร
กันแน่ ในประเทศไทยเรานั้น แปลกันเองได้ความว่า "เอ็งอย่ามาข้าจะไป" หรือ
"ผมไปก่อนนะ" หรือ "อั๊วใหญ่กว่าไปก่อน" อะไรทำนองนั้น
ก็พอจะเข้าใจกันในประเทศไทยเราว่าหมายความว่าอย่างนั้น ธรรมเนียมนี้ก็ค่อยๆวิวัฒนาการ
ขึ้นไปเรื่อยๆ จนบัดนี้บนท้องถนนหลวงเข้าใจกันได้อีกความหมายหนึ่งว่า เมื่อรถที่วิ่งสวนมา
บนถนนหลวงให้สัญญาณไฟหน้า แว็บๆล่ะก็ ให้เตรียมระวังว่าอย่าขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด
อย่าเดินรถในช่องทางขวา อย่าแซงทางซ้าย ฯลฯ เพราะข้างหน้ามีหน่วยตำรวจทางหลวง
คอยดักจับอยู่ สัญญาณนี้เลยกลายเป็นสัญญาณประสานสามัคคีกันในหมู่ผู้ใช้รถบนถนนหลวง
ไปอีกความหมายหนึ่ง
ส่วนในต่างประเทศบางแห่ง เช่น ในยุโรปและประเทศอังกฤษ ไฟแว็บหน้าที่เปิดกันแว็บๆนั้น
สัญญาณนี้แปลได้ว่า "เชิญคุณไปได้ ผมให้ทางคุณ" ดังนั้น พวกฝรั่งพวกนี้มาขับรถในเมือง
ไทย เห็นพี่ไทยเปิดไฟไห้แว็บๆ ก็นึกว่าเหมือนบ้านตัวก็ออกพรวดไปเลย จึงมักจะถูกชน
ซี่โครงหักไปหลายราย นี่ก็คืออันตรายอีกอย่างหนึ่งที่เป็นภาษาสากล
แต่อ่านแปลให้ผิดเพี้ยนไปตามวัฒนธรรมของแต่ท้องถิ่นแต่ละประเทศ
แท้จริงแล้วไฟหน้านี้ใช้ทำอะไรและในภาษาสากลหมายความว่าอย่างไร
ไฟแว็บหน้าใหญ่นั้น จริงๆ แล้วแปลว่า "ระวัง" หรือ "ผมอยู่ตรงนี้"
เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ระมัดระวังว่า มีรถอีกคันอยู่ตรงนี้ หรืออีกนัยหนึ่งสัญญาณนี้
ใช้แทนสัญญาณแตร ในกรณีที่ใช้แตรไม่ได้ เช่นในเวลากลางคืน กฎหมายห้ามใช้แตรหรือ
ในสถานที่ที่มีเครื่องหมายห้ามใช้แตร เพราะจะรบกวนบุคคลอื่น เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน
สถานที่ราชการ หรือกรณีที่เป็นกลางวัน จะใช้เตือนรถที่หันหน้าเข้าหา
ใช้ไฟแว้บเตือนให้ระวังจะดีกว่าเสียงแตร เพราะแสงนั้นเดินทางได้เร็วกว่าเสียงหลายเท่าตัวนัก
นอกจากนั้นยังมีสัญญาณไฟฉุกเฉินที่วัฒนธรรมผันแปร จนเกิดอุบัติถึงแก่ชีวิตในทางหลวง
หลายรายแล้ว คือสัญญาณไฟฉุกเฉินนั้น รถสมัยนี้จะติดมาให้ทุกคัน เป็นสัญญาณไฟ
เหลืองกะพริบทั้งหน้าหลังซ้ายขวารวม 4 ด้าน ตามวัฒนธรรมบ้านเรา หากรถถูกลากจูงก็จะ
เปิดไฟฉุกเฉินนี้ทันที หรือถ้าผ่านสี่แยกจะไปทางตรงส่วนใหญ่ก็จะเปิดไฟฉุกเฉินนี้ทันที
จุดนี้สร้างอันตรายอย่างมากบนทางหลวง เพราะการให้สัญญาณที่ผิดและไม่เป็นสากล
นั่นเพราะว่าผู้ที่สวนทาง หรือผู้ที่ตามหลัง คงจะเดาได้ว่ารถคันที่ให้สัญญาณนี้คงจะไปตรง
แต่รถที่ผ่านสี่แยกทางด้านข้างจะอ่านสัญญาณที่ผิดทันที เพราะจะเห็นสัญญาณเพียงด้านข้าง
ข้างหนึ่งข้างใดแค่เพียงด้านเดียว ทำให้เข้าใจว่ารถคันที่ให้สัญญาณฉุกเฉินนี้จะเลี้ยวซ้ายหรือ
เลี้ยวขวา แล้วแต่รถคู่กรณีจะอยู่ทางใด เมื่ออ่านผิด รถคันที่อ่านผิดก็จะออกรถไปในทางตรง
ทันที ก็เกิดชนกันกลางสี่แยกถึงบาดเจ็บล้มตายไปมากจึงขอให้นักขับรถทั้งหลาย
พึงระวังในการใช้ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ให้มาก
ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง
ชื่อก็บอกว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน คือหมายความว่า รถคันเกิดเหตุนั้นไปไม่ได้เพื่อให้รถคันอื่นๆ
ทราบว่ารถเราเสียไปไม่ได้ต้องจอดขวางทางอยู่ หรือต้องจอดอยู่เฉยๆหรือรอความช่วยเหลือ
หรือจอดเพื่อดูแลซ่อมแซมอยู่ ก็เปิดไฟฉุกเฉินไว้เพื่อให้รถคันอื่นได้รับทราบ หรือขณะที่ขับ
อยู่บนถนนหลวงมีเหตุที่ต้องจอด เพราะมีสิ่งกีดขวางถนนอยู่จนไม่สามารถเคลื่อนรถได้
ก็ให้เปิดไฟฉุกเฉินนั้น เพื่อให้รถตามหลังมาทราบว่าขณะนี้รถเราจอดอยู่นิ่งๆ บนท้องถนน
ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวเราผู้ขับขี่ และแก่บุคคลอื่นที่ตามเรามา
จะได้อ่านสัญญาณนี้ออกเป็นภาษาเดียวกัน
กล่าวโดยสรุปก็คือ ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ จะใช้ต่อเมื่อรถนั้นได้จอดอยู่กับที่เท่านั้น
ห้ามไปใช้วิ่งบนท้องถนนแล้วเปิดไฟฉุกเฉิน บางกรณีที่เห็นบ่อยๆ ก็คือ เมื่อรับคนเจ็บป่วย
ต้องการรีบนำไปส่งโรงพยาบาล ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เปิดไฟฉุกเฉินแล้ววิ่ง เพื่อจะได้ถึง
โรงพยาบาลเร็วๆ แต่มักปรากฎว่าทั้งคนขับคนเจ็บและญาติ
ไม่ค่อยจะถึงโรงพยาบาลส่วนมากจะถึงเพียงสี่แยกใดสี่แยกหนึ่งเท่านั้น
ขับรถหากระมัดระวัง ใช้กฎแห่งความปลอดภัยโดยถูกต้อง ทั้งเทคนิคการขับและสัญญาณ
ให้เป็นสากลโดยแท้ ท่านก็จะเป็นผู้ขับรถอย่างปลอดภัยตลอดไป
ที่มา : บริษัท เชลล์แห่งประเทศ ไทย จำกัด